หลวงพ่อเขียน ขนฺธสโร (18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 – 28 เมษายน พ.ศ. 2555) พระเกจิอาจารย์อีกท่านหนึ่งแห่ง จันทบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดกระทิงท่านเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์และมีอิทธิปาฏิหาริย์ มีวิชาอาคมอันแก่กล้า โดยเฉพาะ ท่านสามารถใช้เวทมนตร์ สะกดพวกสัตว์ป่า ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ในตอนที่ เขาคิชฌกูฎ ได้เปิดให้ผู้คนขึ้นมาสักการะพระพุทธรูป ไหว้พระ และมากราบนมัสการท่าน
อัตโนประวัติ
“พระครูธรรมสรคุณ” หรือ “พ่อท่านเขียน ขนฺธสโร” หรือ “หลวงพ่อเขียน ขนฺธสโร” เป็นพระที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมพัฒนาช่วยเหลือทางสังคม สาธารณประโยชน์ การศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย พ่อท่านเขียน มีนามเดิมว่า เขียน ทองคำ เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2473 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย ตรงกับสมัตรัชกาลที่ 7 ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านกะทิง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ (ขณะนั้นเป็นอำเภอมะขาม) จ.จันทบุรี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายอยู่ และนางมุ้ง ทองคำ ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม หาของป่าและสมุนไพร ดังนั้น ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาพืชสมุนไพรและของป่าบนเขาคิชฌกูฏ จนมีความชำนิชำนาญท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกะทิง บ้านกะทิง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี และเจ้าคณะอำเภอมะขาม จ.จันทบุรีตั้งแต่ปี 2499 – 2555
ท่านเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดกะทิง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี จนกระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดกะทิง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2494 โดยมีพระครูนิเทศคณานุสิฏฐ์ วัดหนองอ้อ ต.มะขาม อ.มะขาม จ.จันทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูพุทธบทบริบาล วัดพลวง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ขนฺธสโร” ในปีเดียวกัน ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี
ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์
พ.ศ.2499 ท่านพ่อรุ่ง เจ้าอาวาสวัดกะทิง ได้มรณภาพลง ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกะทิงสืบแทน
พ.ศ.2516 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เจ้าอาวาสชั้นตรีที่ “พระครูธรรมสรคุณ” และได้รับพัดพิเศษจากกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ.2520 ได้รับพัดพิเศษในโครงการพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร
พ.ศ.2528 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นตรี
พ.ศ.2533 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นโท
พ.ศ.2538 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขามชั้นโท พร้อมกันนี้ ได้ริเริ่มโครงการนำวัดเข้าสู่โรงเรียน โดยการเข้าไปบรรยายในโรงเรียนหลายแห่ง แล้วนำร่องด้วยการปฏิบัติจริงในพื้นที่อำเภอมะขาม และกิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ
พ.ศ.2541 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขามชั้นเอก
พ.ศ.2538 ได้ริเริ่มโครงการนำวัดเข้าสู่โรงเรียน โดยการเข้าไปบรรยายธรรมในโรงเรียนหลายแห่ง แล้วนำร่องด้วยการปฏิบัติจริงในพื้นที่อำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ
พ.ศ.2541 ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “นำวัดเข้าสู่โรงเรียน” ออกเผยแพร่ และจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “อารยธรรมของจันทบุรี-อาณาจักรจันทบูรเมืองเพนียด” ครั้งแรกและจัดพิมพ์ครั้งที่สอง
จากผลงานดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีมติอนุมัติปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระครูธรรมสรคุณ (พ่อท่านเขียน ขนฺธสโร) โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เสด็จประทานปริญญา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2546
รวมทั้ง ได้รับโล่เกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการแนะแนวชีวิตและสังคม ประจำปี พ.ศ.2546 จากกระทรวงศึกษาธิการ
พระครูธรรมสรคุณ ได้มีประวัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านวิชาการ ด้านการพัฒนา ด้านการแพทย์พื้นบ้าน ด้านการสงเคราะห์พระศาสนา ด้านการอบรม สั่งสอนพระสงฆ์ ฆราวาส นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โครงการนำวัดเข้าสู่โรงเรียน งานศึกษาสงเคราะห์ทุนการศึกษา โครงการช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลนครูผู้สอน งานด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม งานนมัสการรอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏ การป้องกันยาเสพติด ด้วยโครงการ “ลานกีฬา ลานวัด ลานใจ” ด้านการศึกษา และ สาธารณประโยชน์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ผลงานด้านวิชาการ
ด้านเอกสาร ท่านได้ใช้ประสบการณ์ความรู้ความสามารถ ถ่ายทอดความคิด ความรู้ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหา การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทย เป็นเอกสารจำนวน 9 เรื่อง ได้แก่
1. นำวัดเข้าสู่โรงเรียน (ปัญหาจริยธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์)
2. อารยธรรมจันทบุรี อาณาจักรจันทบูร เมืองเพนียด
3. ประเพณีชอง
4. ครั้งหนึ่งในเมืองจันท์ (อุทกภัยน้ำท่วม)
5. สกุลสะตรี
6. ตำนานพระบาทเขาคิชฌกูฏ
7. ประวัติความเป็นมารอยพระบาทเขาคิชฌกูฏ (พลวง)
8. จันทบุรีมีดีอะไร
9. เอกสารแสดงวิธีการต่อต้านยาบ้ายาม้า
ผลงานด้านวิชาการอื่น ๆ
1. บรรยายธรรมแก่นักเรียน นักศึกษา ทั้งในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียง
2. ปลูกป่าสมุนไพร เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของแพทย์พื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง
3. ที่ปรึกษาโครงการวิจัย “วิถีชีวิตชาวชองในจังหวัดจันทบุรี” ร่วมกับคณาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
ผลงานด้านการพัฒนา
พระครูธรรมสรคุณ ได้ดำเนินการพัฒนาวัดเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี และการได้ทำบุญปฏิบัติหลักธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า วัดกะทิงจึงเป็นตัวอย่างทางพระพุทธศาสนาที่ดีงามมาโดยตลอด
การสร้างห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญ พระชนมายุ 36 พรรษา
ผลงานด้านการอบรมสั่งสอนพระสงฆ์ ฆราวาส นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป
1. โครงการนำวัดเข้าสู่โรงเรียน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน
2. สนับสนุนทุนการศึกษาโครงการนำวัดเข้าสู่โรงเรียน ผู้สอบนักธรรม ตรี – โท – เอก ของโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดจันทบุรี
ผลงานด้านการศึกษา
ให้การอุปถัมภ์นักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม จัดการศึกษาในเขตปกครองอำเภอมะขาม และงานศึกษาสงเคราะห์ ได้แก่ ทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาในจังหวัดจันทบุรี ทุนอุปถัมภ์ครูสอน จ้างครูเพื่อสอนในโรงเรียนที่ขาดแคลน
ผลงานด้านสังคมและการส่งเสริมวัฒนธรรม
1. งานนมัสการรอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏ
2. โครงการป้องกันบำบัดรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิตของประชาชน เช่น โครงการลานวัด ลานกีฬา ลานใจ รับผู้ต้องการบำบัด รักษา ฟื้นฟูสุขภาพจิต
3. ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับงานด้านการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม
การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
1. พ.ศ. 2537 ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นเงิน 113,182 บาท
2. พ.ศ. 2549 ทูลเกล้าฯ ถวายเงินร่วมกับคณะบุคคล แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสมทบทุนมูลนิธิราชสุดา เป็นเงิน 250,000 บาท
3. โดยเสด็จตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อตั้ง “กองทุนการศึกษา เพื่อโรงเรียนพระราชทาน วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล” (โครงการนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 5 ปี รวมเงิน 5,000,000 บาท
4. พ.ศ. 2549 ทูลเกล้าฯ ถวายเงินร่วมกับคณะบุคคล แด่สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อจัดตั้ง “กองทุนสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล” เป็นเงิน 500,000 บาท
ผลงานการพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณประโยชน์
1. การบริจาคเงินโครงการทุนการศึกษาเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา จำนวน 400,000 บาท ของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
2. การบริจาคเงินให้โรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดจันทบุรี ปีละกว่า 10 ล้านบาท
3. การบริจาคเงินให้โรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดจันทบุรีและต่างจังหวัด
4. การบริจาคเงินช่วยเหลือด้านสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์ในจังหวัดอื่น ๆ
5. การช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลนครูผู้สอน
ได้รับขนานนาม เทพเจ้าแห่งขุนเขาคิชฌกูฏ
ทุกครั้งที่หน่วยงานราชการ องค์กรการกุศล โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ หรือประชาชนทั่วไป เข้ามาขอรับความอนุเคราะห์จากหลวงพ่อเขียน ท่านไม่เคยปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด ชาวบ้านญาติโยมจึงได้ขนานนามท่านว่า “เทพเจ้าแห่งขุนเขาคิชฌกูฏ”
หลวงพ่อเขียน มีความชำนิชำนาญด้านนวกรรมจิตตภาวนาเหมือนการหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ดังเช่นครั้งหนึ่งได้เคยทำนายว่าจะเกิดเหตุน้ำป่าท่วมเมืองจันท์ฯ โดยท่านได้กล่าวทำนายก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำป่าท่วมจังหวัดจันทบุรีเมื่อปี พ.ศ.2542 ในเขตพื้นที่กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ, อ.มะขาม และ อ.เมืองจันทบุรี
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ชำนาญด้านพื้นที่ตามเชิงเขาสูง สามารถหยั่งรู้ดินฟ้าได้ล่วงหน้า ประกอบกับการเดินเท้าขึ้นเขาคิชฌกูฏได้รวดเร็วจนชาวบ้านเดินตามไม่ทัน ท่านพ่อเขียนเดินได้รวดเร็วคล้ายกับการหายตัว
หลวงพ่อเขียน ถึงแก่มรณภาพเมื่อเวลา 12.00 น. ของวันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยอาการไตวาย โดยท่านได้เข้ารับการรักษาอาการอาพาธโรคไตและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่นี่มาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ของปีเดียวกัน สิริอายุได้ 82 ปี 62 พรรษา