อุทยานพุทธประวัติ วัดโกรกแก้ววงพระจันทร์ ฉะเชิงเทรา

By | August 5, 2019

https://youtu.be/BNc0Gsj7dK8

อุทยานพุทธประวัติ วัดโกรกแก้ววงพระจันทร์ ฉะเชิงเทรา… สวัสดีครับท่านที่รักการเดินทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปชมอุทยานพุทธประวัติซึ่งก่อสร้างไว้สวยงามภายในป่า ในเขตวัดโกรกแก้ววงพระจันทร์ และได้ศึกษาถึงเรื่องราวพุทธประวัติบางตอนอีกด้วย

วัดโกรกแก้ววงพระจันทร์ ตั้งอยู่ที่ ต.หนองไม้แก่น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เส้นทางสะดวกดีครับ

อุโบสถ วัดโกรกแก้ววงพระจันทร์

ประวัติวัดโกรกแก้ววงพระจันทร์จากหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรได้เขียนไว้ว่า 

วัดโกรกแก้ววงพระจันทร์ ตั้งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2525 ชาวบ้านเรียกว่า วัดโกรกอีเหลือง เดิมพระภิกษุวงษ์ อินทสโร ร่วมกับชาวบ้านสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมาก่อนเมื่อปีพ.ศ.2500 และต่อมาได้รับอนุญาตให้สร้างวัดในปี พ.ศ.2525 แรกเริ่มก่อสร้างอุโบสถและศาลาการเปรียญ

เจ้าอาวาสรูปต่อมาคือ พระครูจันทรปุญญากร ได้บูรณะอุโบสถจนแล้วเสร็จ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2533

เป็นวัดท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว นอกจากมีบรรยากาศร่มรื่นแล้ว ยังได้ศึกษาพุทธประวัติไปในตัวอีกด้วย

ปางประสูติ

จุดแรกคือปางประสูติ ซึ่งจะอยู่หลังอาคารเรียนพระปริยัติธรรม 

ปางประสูติมีเรื่องราวในพุทธประวัติว่า พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตเทวโลก เสด็จปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางสิริมหามายา อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ

เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์แก่ได้เสด็จกลับไปคลอดที่กรุงเทวหะ ซึ่งเป็นบ้านเกิด เมื่อเสด็จถึงลุมพินีวันซึ่งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวหะ ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพระพุทธศักราช 80 ปี ในเวลาใกล้เที่ยง พระนางก็ประสูติพระราชโอรส ณ โคนต้นสาละ ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ เมื่อประสูติพระราชกุมารก็อยู่ในอิริยาบถยืนหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ เสด็จย่างพระบาทไป 7 ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ 7 ดอก แล้วทรงกล่าววาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดใหม่มิได้มี

เทวฑูตทั้ง 4

จุดถัดไป เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทวฑูตทั้ง4 เป็นเหตุการณ์ในพุทธประวัติว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จประพาสเมืองได้เห็น คนแก่ คนเจ็บป่วย คนตายและนักบวช ทำให้พระองค์พิจารณาเห็นถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เป็นอีกเหตุปัจจัยที่ทำให้พระองค์ออกผนวช

เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อจะค้นหาสัจธรรมแห่งชีวิต จึงตัดสินพระทัยทรงออกผนวช ในวันที่พระราหุลประสูติแล้วไม่กี่วัน พระองค์ทรงม้ากัณฐกะออกผนวช มีนายฉันทะตามเสด็จ โดยมุ่งตรงไปที่แม่น้ำอโนมานที ทรงตัดพระเกศา และเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นผ้ากาสาวพักตร์ (ผ้าย้อมด้วยรสฝาดแห่งต้นไม้) ทรงเปลื้องเครื่องทรงมอบให้นายฉันนะนำกลับพระนคร การออกบวชครั้งนี้เรียกว่า การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่)

พระอรหันต์ 1,250 รูป มาชุมนุมกันในวันมาฆบูชา

ถัดเข้าไป จะเป็นอุทยานเรื่องราวในเหตุการณ์วันมาฆบูชา ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สุดของวัดโกรกแก้ววงพระจันทร์ ด้วยจำนวนรูปปั้นพระสงฆ์ถึง 1,250 รูป นั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

เหตุการณ์ในพุทธประวัติว่า

  1. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3
  2. พระภิกษุทั้ง 1,250 องค์นั้น ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
  3. พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา 6
  4. พระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน เพราะพระพุทธเจ้าประทาน “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ด้วยพระองค์เอง

ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 ดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จาตุร+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)

พระอรหันต์ 1,250 รูป

ปางพยาบาลภิกษุอาพาธ

ปางพยาบาลภิกษุอาพาธ เป็นเรื่องราวในพุทธประวัติเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จตรวจความเรียบร้อยของเสนาสนะ ได้พบกับภิกษุติสสะนอนป่วยท้องร่วงไม่มีใครดูแล 

พระพุทธองค์จึงทรงเข้าไปทำการพยาบาลโดยมีพระอานนท์คอยอุปัฏฐากช่วยเหลือ เมื่อทรงทำกิจแล้วเสร็จจึงเรียกประชุมคณะสงฆ์

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาลดูกรภิกษุทั้งหลาย

ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ

ถ้ามีอุปัชฌายะ อุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอาจารย์ อาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีสัทธิวิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะพึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฎ”

จึงเกิดข้อบัญญัติที่เหล่าภิกษุทั้งหลายต้องดูแลกันเมื่อเจ็บป่วยให้เป็นพระวินัยจนถึงทุกวันนี้

โปรดองคุลิมาล

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 

ธิดามาร ประกอบด้วย ตัณหา ราคะและอรดี

เหล่าธิดารมารทั้ง 3 ประกอบด้วย ตัณหา ราคะและอรดี ได้เข้ามาขัดขวางการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเปิดโลก

พระพุทธเจ้าเปิดโลกเป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 หลังจากการโปรดพุทธมารดาจนบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน

พระพุทธองค์ได้แสดงพุทธปาฏิหาริย์ทำให้ภพภูมิทั้ง 3 ได้เห็นซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นประจักษ์ว่าภพภูมินั้นมีจริง ได้แก่โลกสวรรค์และพรหม โลกมนุษย์และโลกนรก ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา

พระเทวทัตถูกธรณีสูบ

อนันตริยกรรมของพระเทวทัต… ช่วงบั้นปลายพระเทวทัตมีอาการป่วยและสำนึกผิดในกรรมของตน จึงให้บริวารหามเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร แต่ก่อนเข้าสู่พระอาราม ได้ลงจากเปลเพื่อสรงน้ำ

ทันใดนั้นเมื่อเท้าแตะผืนดิน จึงถูกธรณีสูบลงสู่อเวจีมหานรก

**********
อนันตริยกรรมมี 5 อย่าง ได้แก่
1.ฆ่าบิดา
2.ฆ่ามารดา
3.ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตห้อ
4.ฆ่าพระอรหันต์
5.สังฆเภท (ทำให้สงฆ์แตกแยก)

การทำกรรมใน 5 อย่างนี้ เป็นการปิดสวรรค์ ปิดนิพพาน เมื่อตายไป ต้องตกนรกสถานเดียว

**********

ทั้งหมดนี้คือบรรยากาศในอุทยานพุทธประวัติ ของวัดโกรกแก้ววงพระจันทร์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ อย่าลืมมาเช็คอินถ่ายรูปกันนะครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ… แอดมินตั้ม

ช่องทางการติดตาม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด