Faiththaistory.com

แสวงบุญเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี

เขาคิชฌกูฏ 7

แสวงบุญเขาคิชฌกูฏ ไหว้พระทำบุญเขาคิชฌกูฏ คำนี้ มักจะได้ยินจนคุ้นหูสำหรับคนไทยในทุกๆต้นปียาวไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมโดยประมาณ จะเป็นช่วงที่คนไทยหลายคนไทยมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปแสวงบุญที่เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากมีความลำบากที่จะต้องเดินทางไปนมัสการ และมีช่วงเวลาจำกัดโดยประมาณ 2 เดือน ทำให้ผู้คนเชื่อและศรัทธาว่า ถ้าได้เดินทางไปแสวงบุญและกราบพระพุทธบาทหลวงบนเขาคิชฌกูฏแล้วจะได้ผลบุญจากอานิสงส์การบูชารอยพระพุทธบาทอย่างมาก

เขาคิชฌกูฏ ได้ตั้งชื่อตาม เขาคิชฌกูฏ ที่ในสมัยพุทธกาลซึ่งเป็นที่ตั้งพระคันธกุฎี (กุฏิ)ของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธเป็นยอดเขาที่มีแนวเขาล้อมโดยรอบ และบนยอดเขามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์ คือ รอยพระพุทธบาท และหินลูกบาตร ที่ตั้งข้างกับรอยพระพุทธบาท อยู่ในลักษณะคล้ายลอยอยู่ริมลานพระพุทธบาทฝั่งตรงข้ามหินลูกบาตรมีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้ และในหินก้อนนี้ ตรงข้ามกันมีรอยพระพุทธหัตถ์เบื้องซ้าย มีรูปรอยเท้าใหญ่ (รอยเท้าพญามาร) ใต้พระบาทมีถ้ำตาฤาษี

พระครูธรรมสรคุณ (หลวงพ่อเขียน) วัดกะทิง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี  ท่านมีชื่อและโดดเด่นทางด้านจิตตภาวนา สามารถเดินเท้าขึ้นเขาคิชฌกูฏได้อย่างคล่องแคล่ว ชำนาญ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้บุกเบิกตำนานการจัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง บนเขาคิชฌกูฏ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ท่านได้กล่าวสอนไว้ว่า “พระบาทของพระพุทธองค์ แม้ประดิษฐานอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ถ้าเรามีความเชื่อมั่นศรัทธา เคารพกราบไหว้ด้วยใจเคารพและศรัทธาจริงแล้ว ผลแห่งการอธิษฐานย่อมเกิดผลสำเร็จแก่ผู้นั้นทุกคนและเป็รสิริมงคลแก่ผู้นั้นตลอดไป”  ความศรัทธาและเคารพในพระพุทธองค์นั้น เป็นผลบุญที่สุดจะประมาณ เพราะพระองค์เป้นที่เคารพของหมู่มวลมนุษย์ เทวดา พรหม ทั่วทุกภพจักรวาล

 

เราต้องตั้งจิตอธิษฐานให้ดี ปรารถนาสิ่งใดที่ดีที่ชอบขอได้ตามความพอใจ กลับไปจะมีแต่ความปลอดภัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายและเทพยดาที่รักษารอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จะอำนวยอวยพรให้ท่านได้รับแต่ความสุขสมบูรณ์พูลผล ร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป

ยอด “เขาคิชฌกูฏ” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี “เขาคิชฌกูฏ” เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถือว่าสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ และถือว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่สูงที่สุดในประเทศไทย “รอยพระพุทธบาท” มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทห่างจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กม.

เล่ากันว่า “รอยพระพุทธบาท” นี้ถูกค้นพบโดยนายพรานหาของป่าที่เดินขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏเมื่อปี พ.ศ.2397 เดิมทีนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พระบาทพลวง” แต่ในปี พ.ศ.2515 พระครูธรรมสรคุณผู้เป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวง ได้เสนอให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ “เขาคิชฌกูฏ” แต่ผู้ที่มาบุกเบิกเปิดตำนานรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ให้คนรู้จัก และให้พุทธศาสนิกชนได้เดินทางขึ้นไปกราบไหว้ สักการะในความศักดิ์สิทธิ์ก็คือ“หลวงพ่อเขียน” โดยในปี พ.ศ. 2515 หลวงพ่อเขียนได้บุกเบิกทางขึ้น และนำรถยนต์ขึ้นเขาเป็นครั้งแรก ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเส้นทางขึ้นยอดเขาให้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น มาจนถึงปัจจุบัน

 

ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฎ

ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฎ (พลวง) นายติ่งและคณะได้ขึ้นบนเขาเพื่อไปหาไม้กฤษณามาขาย ได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้าง เพื่อนของนายติ่งคนหนึ่ง ได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพักก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ เเละเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอย ต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ รุ่งขึ้นก็มีงานปิดรอยพระพุทธบาทจำลอง นายติ่งซื้อทองไปปิดแล้วจึงพูดว่าแถวบ้านตนก็มีรอยแบบนี้เช่นเดียวกัน พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดรับทราบ จึงเรียกนายติ่งเข้าไปสอบถามและส่งคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู ก็เป็นความจริงและตรวจดูรอบๆบริเวณนั้น ก็พบสิ่งประหลาดมหัศจรรย์หลายอย่าง รอยพระพุทธบาทนั้นท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ บรรจุคนนั่งได้ร้อยกว่าคน บนยอดเขาสูงสุด กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกว่าหินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมาอย่างน่าแปลกประหลาดมหัศจรรย์ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉยๆ มีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดออกมาได้ และยังมีหินอีกลูกอยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาทนี้ ก็มีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้จากรอยพระพุทธบาทกับรอยพระหัตถ์นั้น ห่างกันประมาณ 5 เมตร และยิ่งแปลกไปกว่านั้น ในก้อนหินนั้นตรงกันข้ามกับรอยพระหัตถ์ ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่ารอยเท้าพญามาร เพียงแหงนหน้าขึ้นไปจะมองเห็นได้ทันที สูงประมาณ 15 เมตร ต่อจากนั้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากหินลูกนี้ไปเพียง 15 วา มีหินลูกข้างบนเป็นลานและมองเห็นรอยรถหรือรอยเกวียน เมื่อยืนบนหินลูกนั้นมองลงไปทางทิศเหนือจะเห็นถ้ำเต่า หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรอยพระพุทธบาทจะเห็นถ้ำช้าง และถ้ามองจากรอยพระพุทธบาทขึ้นไปจะเห็นหินก้อนหนึ่งมีรูปลักษณะคล้ายช้าง จริง เลยจากช้างไปสูงสุดนั้นเรียกกันว่าห้างฝรั่ง เพราะฝรั่งได้ขึ้นไปตั้งห้างส่องกล้องเพื่อทำแผนที่ มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังมีถ้ำอีกถ้ำหนึ่งเรียกว่าถ้ำสำเภา เพราะมีหินก้อนหนึ่งข้างบนถ้ำมีลักษณะคล้ายๆเรือสำเภา และยังมีอีกถ้ำหนึ่งใต้พระบาทนี้เรียกว่าถ้ำตาฤาษี

ที่มาของชื่อเขาคิชฌกูฏนั้น ในตำนานศาสนาพุทธกล่าวไว้ว่า เขาคิชฌกูฎอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ แปลว่าภูเขาแร้งกระพือปีก มีคันธกุฎีอยู่บนยอดเขา และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต เป็นความดำริของพระครูธรรมสรคุณซึ่งเป็นกรรมการและเป็นหลักในการพัฒนาพระบาท พลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ได้เสนอใช้ชื่อ พระบาทเขาคิชฌกูฎ (พลวง) เหตุผลเพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่พุทธศาสนาเจริญกว่าเมืองไหนๆ แม้กระทั่งประเทศอินเดีย จึงน่าจะใช้ชื่อนี้เป็นที่ระลึกถึงพระบรมศาสดา ในทุกๆ ปีจะมีพิธีเปิดและพิธีปิดการขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, 2544:97-99)

กิจกรรมในงานกราบสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฎ การเดินทางเริ่มต้นที่วัดพลวงไปตามถนนระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ทิวทัศน์บนยอด เขาคิชฌกูฏ หรือ เขาพระบาท นี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา ที่นำมาผูกกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศิลาเจดีย์ รอยพระพุทธบาท หินรูปบาตรคว่ำ ถ้ำฤาษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่าและช้างขนาดยักษ์ บนยอดเขาพระบาทซึ่งมีอากาศเย็นสบายนั้น สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้อย่างชัดเจน

โดยการจัดเดินป่าขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานาน โดยมีความเชื่อว่าจะได้บุญสูง และเป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก…ในอดีตจะเป็นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขา แต่ในปัจจุบันมีรถบริการให้ประชาชน ได้เดินทางขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

>>> การเดินทางไปเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี <<<

>>> อานิสงส์ การบูชารอยพระพุทธบาท <<<

youtube.com : pwdthailand

ภาพสวยๆจาก : www.weekendhobby.com  โดย คุณดอกดิน

Exit mobile version