Faiththaistory.com

ประเพณีบุญประจำปี นมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี ประจำปี 2558

เขาคิชฌกูฏ

ประเพณีบุญประจำปี นมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี ประจำปี 2558

ผมได้เริ่มเขียนบทความบนเว็บบล็อกส่วนตัว FaithThaistory.com ด้วยแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ที่เขาคิชฌกูฏ ครั้งก่อน และครั้งนี้ก็เวียนมาครบรอบอีกครั้ง กับงานบุญประจำปี ครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยหลายคน ซึ่งผู้คนและนักท่องเที่ยวที่มีจิตศรัทธา ก็คงได้มีการวางแผนเตรียมตัวเดินทางไปร่วมงานบุญครั้งยิ่งใหญ่นี้ และเปิดโอกาสให้เดินทางขึ้นนมัสการเพียง 2 เดือนต่อปีเท่านั้น

การเดินทางมานมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงที่เขาคิชฌกูฏ

เดินทางมาไม่ยากเลยครับ เดินทางไปจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีป้ายบอกเส้นทางตลอดทางแน่นอน เพราะเป็นงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ผู้คนเดินทางจากทั่วประเทศมารวมกันที่นี่โดยไม่ต้องนัดหมาย ยิ่งช่วงวันหยุดยาว หรือเสาร์ – อาทิตย์ ต้องขอให้ทำใจเลยนะครับ เพราะคนจะเยอะมาก อย่าให้จิตใจขุ่นมัวไปซะก่อน ถ้าจะให้แนะนำผมขอแนะนำให้เดินทางไปในวันธรรมดา จันทร์ – พฤหัสบดี น่าจะเหมาะสมที่สุด ลองจัดช่วงเวลา เพื่อลางานมาทำบุญกันก็ได้ครับ

การเดินทางให้ดูเส้นทางตามแผนที่ประกอบด้านล่าง หรือตาม Link ที่ผมเคยเขียนไว้ที่นี่ ===> การเดินทางไปเขาคิชฌกูฏ

เมื่อถึงแยกเขาไร่ยา ก็จะเห็นป้ายบอกทางไป อำเภอเขาคิชฌกูฏ ชัดเจนมากครับ ไม่หลงทางแน่นอนเพราะหลังจากนี้ มีป้ายตลอดทางครับ

 

กำหนดการ งานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ ประจำปี 2558

วันที่ 5 – 9 มกราคม 2558 พิธีบวชชีพราหมณ์

วันที่ 17 มกราคม 2558 พิธีบวงสรวงปิดป่า และเปิดงานบุญประจำปี

วันที่ 19 มกราคม – 19 มีนาคม 2558 เปิดให้ขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง อย่างเป็นทางการ

 

ตำนานรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ

ผมเคยเขียนรายละเอียดไว้แล้ว เป็นเรื่องเล่าตำนานการค้นพบด้วยความบังเอิญของชาวบ้านที่ชื่อติ่ง ลองอ่านตามลิ้งค์ด้านล่างครับ

อ่านเรื่องราวตำนานรอยพระพุทธบาทพลวง ได้ที่นี่ ===> https://www.faiththaistory.com/kitchakood-mountain

 

ทำไมจึงเปิดให้ขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาทเพียง 2 เดือน หรือ 60 วัน เท่านั้น

เรื่องระยะเวลาการเปิดให้ขึ้นนมัสการแต่เดิมนั้นเปิดให้ขึ้นเพียง 15 วัน แต่ต่อมาได้ขยายเวลาเป็น 30 วัน 45 วัน และสุดท้ายมาหยุดที่ 60 วัน มีรายละเอียดดังนี้

การขึ้นนมัสการกราบไหว้รอยพระพุทธบาทไม่ทราบระยะเวลาที่แน่ชัดว่ากี่วัน โดยถือกำหนดเอาวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 เป็นวันขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท

ในยุคท่านพ่อนังการขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท โดยมีกำหนดการ คือขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 ของทุกปีเป็นวันแรก และเปิดให้ขึ้นเป็นระยะเวลา 15 วัน

ในยุคท่านพ่อเขียนการเปิดให้ขึ้นนมัสการ ก็ยึดแนวทางเดิมคือ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันแรกของการเปิดนมัสการ ยุคแรกก็ยังเปิด 15 วัน ต่อมา ผู้แสวงบุญเพิ่มขึ้น และในปี พ.ศ.2536 ได้มีการขยายเวลาขึ้นเป็น 30 วัน จากนั้นในปี พ.ศ.2537 ได้ขยายเป็น 45 วัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการขึ้นของของผู้แสวงบุญ จึงเพิ่มเป็น 60 วัน ในปีพ.ศ.2538

ในปีพ.ศ.2539 ได้มีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนวันขึ้นอีก แต่ท่านพ่อเขียนบอกว่าธรรมชาติให้แค่นี้  ท่านบอกว่า สัตว์ในป่าเค้าลำบาก ต้องอดอาหาร ดังนั้น เราควรพอกันแค่นี้ ดังนั้นจึงถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2542 ได้จัดปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติเป็นปีแรกและถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน หลังจากท่านพ่อเขียนมรณภาพ ท่านพ่อนง(พระครูประดิษฐ์ศาสนการ) ได้รับพิจารณาจากคณะสงฆ์ให้เป็นประธาน ก็ถือปฏิบัติตามประเพณีเดิม คือ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 เป็นวันแรกของการเปิดนมัสการ และสิ้นสุดที่ แรม 15 ค่ำ เดือน 3 ระยะเวลารวม 60 วัน

แนะนำการนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ อย่างไรให้ได้บุญมาก

การเดินทางขึ้นมาเพื่อกราบนมัสการไหว้รอยพระพุทธบาทถือว่าเป็นบุญที่มีอานิสงส์มาก มีผู้ที่ขึ้นมากราบไหว้และขอพรกลับไป มีผู้สมปรารถนาก็มากมาย และไม่สมหวังก็มีมากเช่นกัน ตรงนี้จากประสบการณ์ที่ทำงานมานาน ได้พูดคุยสอบถามผู้ที่ขึ้นมากราบไหว้ขอพร และประสมความสำเร็จ ว่าเขาเหล่านั้นมีวิธีอย่างไร เมื่อกล่าวโดยสรุปในการมากราบไหว้ให้ประสมความสำเร็จนั้นจะมีหลักดังนี้

1. ถือศีลให้บริสุทธิ์ อย่างน้อยให้ถือศีล 5 และมีสติ อย่าให้ศีลขาด ถ้าศีลขาดให้ทำการสมาทานศีลใหม่โดยทันที อานุภาพแห่งศีล ทำให้เป็นตัวขับแรงบุญให้เกิดผลรวดเร็ว เพราะศีลคือสิ่งที่ปกป้องไม่ให้เราทำชั่ว เมื่อไม่ทำชั่วเราก็รับผลแห่งกุศลมา โดยไม่รั่วไหลออกไป

ศีลเป็นจุดเริ่มต้นแรก ที่สำคัญยิ่ง อย่าคิดว่าไม่สำคัญนะครับ การอาราธนาศีลก็ไม่ยากอะไร โดยให้กล่าวง่ายๆ สั้นๆ และตั้งจิตตั้งใจโดยไม่จำเป็นต้องกล่าวต่อหน้าพระพุทธรูปก็ได้ (ครูบาอาจารย์ บอกผมมาแบบนี้ ครับ) เพราะฉะนั้น ศีลขาดเมื่อไหร่ อาราธนาใหม่ได้ทันที ว่าดังนี้

นะโม 3 จบ

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานว่า ต่อแต่นี้ไปข้าพเจ้า จะขอรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ดังเดิม ดังนี้

ศีลข้อ 1 ไม่ฆ่าสัตว์

ศีลข้อ 2 ไม่ลักทรัพย์

ศีลข้อ 3 ไม่ประพฤติผิดในกาม

ศีลข้อ 4 ไม่พูดเท็จ

ศีลข้อ 5 ไม่ดื่มสุราและของมึนเมา

อิมานิ ปัญจะ สิกขาปทาน สมาธิยามิ ( 3 จบ)

2.ขณะมาจากบ้านต้องตั้งใจมาเพื่อกราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาท และถ้าชักชวนใครมาต้องบอกหรือชวนให้มากราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาท คือต้องตั้งใจมาเพื่อกราบไหว้รอยพระพุทธบาท

3.ขณะขึ้นมาบนเขาต้องรักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ผ่องใส อย่าพูดหรือกระทำการอันใดอันเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นหรือไม่เคารพ

4.เมื่อมาถึงจุดลานพระบาท ต้องเข้ากราบไหว้บูชาก่อนไปจะขึ้นไปลานอินด้านบน เพราะคนส่วนมากเมื่อคนมากๆรอไม่ไหวจะขึ้นไปลานอินด้านบนก่อน หรือตั้งเจตนาจะไปขอพรที่จุดผ้าแดงอย่างเดียวไม่สนใจการกราบไหว้รอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาทถือว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด สำคัญที่สุด แม้นว่าการขึ้นเขาจะทำบุญทุกที่หรือมากเพียงใด แต่ถ้าไม่ได้กราบรอยพระพุทธบาท ถือว่ามาแล้วขาดทุน

5.ให้ความเคารพในขณะเข้าลานพระบาท เช่น ต้องถอดหลวก ถอดรองเท้า ลดสำภาระที่สะพายบนบ่าบนไหล่ลง สวยเสื้อผ้าที่สุภาพเรียบร้อย

6.เตรียมเครื่องสักการะให้พร้อม ขอสำหรับสักการบูชารอยพระบาทมีดังนี้
-ธูป การใช้ธูปควรใช้ 3 หรือ 9 ดอก เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณ 3 ประการและคุณ 9 ประการ (อานิสงส์บูชาด้วยธูป จะส่งผลให้เป็นผู้มีชื่อเสียงขจรขจายไปทุกภพทุกชาติ)
-เทียน ใช้ 2 เล่ม หมายถึง พระธรรมกับพระวินัย (อานิสงส์บูชาด้วยเทียน จะทำให้เราเป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรมได้ง่ายเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดทุก ชาติ)
-ดอกไม้ ควรเตรียมมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่มักซื้อมา เมื่อเดินทางขึ้นมาก็ไหว้ตามเส้นทางมาโดยตลอด พอมาถึงที่ลานบาท ก็จะเหลือแต่เศษดอกไม้ ดังนั้นควรเตรียมดอกไม้อันปราณีตสวยงาม หรือเป็นพวงมาลัยดอกไม้สด ซึ่งจะมีเตรียมไว้ที่จุดบริการดอกไม้ ธูป เทียน ทอง (อานิสงส์บูชาด้วยดอกไป จะส่งผลให้มีรูปร่างที่สวยงาม)
-แผ่นทอง ใช้ประมาณ 9 แผ่น เป็นอย่างน้อย (อานิสงส์บูชาด้วยแผ่นทองหรือปิดทอง จะส่งผลทำให้มีผิวพรรณงดงาม)
-เงินทอง การนำปัจจัยเงินทองถวายบูชาที่รอยพระบาท ให้ตั้งเจตนาว่า ขอถวายปัจจัยเป็นพุทธบูชาต่อรอยพระพุทธบาท อย่างคิดถวายเพื่อสร้างสิ่งใดๆ (อานิสงส์ที่ถวายปัจจัยเงินทองบูชารอยพรพุทธบาท จะส่งผลให้เรามีโภคสมบัติเป็นเศรษฐีทุกภพทุกชาติจนกว่าจะถึงซึ่งพระนิพพาน)

7.เข้าไปแล้วต้องกราบให้ได้อย่างน้อย 3 ครั้ง เพราะคนส่วนมากเมื่อไปกันมากๆการกราบก็เกรงว่าจะไปกราบเอาท้าวของคนอื่นเลย ไม่ค่อยได้กราบกัน ดังนั้นเวลากราบจงตั้งใจให้ระลึกว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่จริงๆประหนึ่งว่า สมัยพระองค์ยังทรงประทับตรงหน้าแล้วกราบให้ได้ 3 ครั้ง

8.ไม่ทิ้งขยะ คนเราเมื่อมาถึงจุดลานบาทก็กราบไหว้แบบเทหมด จากนั้นก็ลืมสติ ทิ้งเศษถุงบ้าง กระดาษที่ห่อแผ่นทองบ้าง จนทำให้ลานพระบาทสกปรก ดังนั้นอย่างทิ้งขยะหรือเศษสิ่งของลงในรอยพระบาทและในลานพระบาท

9.เก็บขยะ นอกจากไม่ทิ้งเศษผงเศษขยะแล้ว หากพบมีเศษผงเศษขยะที่คนอื่นทำตกหล่นไว้ ให้เก็บและนำไปทิ้งในจุดที่ใส่ขยะ เพื่อจะได้ถวายการดูแลรักษาความสะอาด ดั่งประหนึ่งว่าพระองค์ประทับอยู่จริง

10.ให้ขอพรเพียงสิ่งเดียว การขอพรนั้นท่านพ่อเขียนได้เคยอธิบายไว้ว่า คนบางคนมาเพื่อขอเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจสร้างบารมี อีกประการหนึ่ง คนที่จะสำเร็จในสิ่งที่ขอได้นั้นต้องมีบารมีที่เพียงพอกับสิ่งที่ขอนั้น คนบางคนขอมากเกินไป คือขอแบบโลภมาก เช่น ขอให้รวยเป็นร้อยล้าน พันล้าน ทั้งๆที่ไม่มีบารมี อย่างนี้สำเร็จยาก ท่านจึงสอนให้ขอในสิ่งที่เหมาะสม และขอสิ่งสำคัญในชีวิตสักหนึ่งอย่าง จะสำเร็จไวกว่าของทีละมากๆ

11. อุทิศแบ่งบุญให้กับเทวดาบ้าง ทั้งที่อยู่บนเขาคิชกูฌกูฏ เทวดาที่อยู่ที่บ้าน เทวดาที่อยู่ที่ทำงาน เทวดาที่ดูแลตัวเรา และแบ่งบุญให้ผู้มีพระคุณเช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติมิตร และเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย เพื่อจะได้เป็นแรงบุญให้ช่วยเหลือเราให้สมปรารถนาได้โดยเร็ว

เรียบเรียงและเพิ่มเติมจาก Facebook เขาพระบาทพลวง จันทบุรี

การเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาท จะมีสถานที่ต่างๆ บนยอดเขาอีกมากมาย แต่จุดสำคัญที่สุด ก็คือรอยพระพุทธบาท ส่วนสถานที่อื่นๆ จะมีป้ายแนะนำเส้นทางบอกไว้ชัดเจนครับ เช่น ถ้ำปู่ฤาษี ลานพระเมตตา ลานพระนอน พระยืนปางอุ้มบาตร ลานอิน เป็นต้น

ขอให้ทุกท่านประสบความสมหวัง สมความปรารถนาครับ

เตรียมใจและพลังศรัทธาให้พร้อม

ADVERTISEMENT

Exit mobile version