เที่ยว ทำบุญ นมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล อ่างทอง

By | September 7, 2014
พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล

พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล

เที่ยว ทำบุญ นมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล อ่างทอง

อีกครั้งสำหรับการเดินทางเที่ยววัดของผม และครั้งนี้ผมได้วางแผนเดินทางมาเที่ยวที่วัดขุนอินทประมูล จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดที่เก่าแก่มากพอสมควรวัดหนึ่ง มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี อีกทั้งมีเรื่องราวอาถรรพ์เกี่ยวกับพระวิหารที่ไม่เคยสร้างแล้วเสร็จ และจุดเด่นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระนอนองค์ใหญ่ หรือพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย ด้วยความยาวองค์พระประมาณ 50 เมตร

ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางไสยาสน์

พระพุทธรูปปางไสยาสน์นี้ หรือปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถ นอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้) ลักษณะเดียวกับปางปรินิพพานและปางทรงพระสุบิน หรือเรียกโดยทั่วไปว่าพระปางไสยาสน์

พระพุทธรูปปางไสยาสน์นี้ เรียกกันอีกชื่อคือ “ปางโปรดอสุรินทราหู”  (พระราหู) ซึ่งมีเรื่องราวเมื่อครั้งสมัยพุทธกาลที่พระพุทธองค์แสดงปาฏิหาริย์ปราบทิฏฐิขององค์พระราหู  ผู้เป็นราชาครองอสูร เนื่องจากพระราหูได้ทราบว่าเหล่าเทวดาให้ความเคาระพนับถือพระพุทธเจ้า จึงอยากที่จะฟังธรรม แต่ด้วยทิฏฐิคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงมนุษย์มีร่างกายเล็ก จึงไม่มีความอ่อนน้อมต่อพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์จึงได้แสดงปาฏิหาริย์เนรมิต ร่างของพระองค์ให้มีขนาดองค์ใหญ่ในลักษณะอริยาบถนอนตะแคง พระบาทซ้อนทับสูงใหญ่กว่าพระราหู จนพระราหูต้องแหงนหน้าเพื่อชมพุทธลักษณะ

จากนั้นพระพุทธองค์ได้พาพระราหูเที่ยวชมชั้นพรหม ซึ่งเหล่าพรหมล้วนมีองค์ขนาดใหญ่กว่าพระราหูทั้งสิ้น จนพระราหูเกิดความกลัวต้องหลบอยู่ข้างหลังพระพุทธองค์ นับแต่นั้นมาก็ลดทิฐิมานะ อ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ และเมื่อได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุดแห่งชีวิต

การเดินทางและแผนที่ไปวัดขุนอินทประมูล

การเดินทางให้ขับรถเข้าตัวเมืองอ่างทอง และเลี้ยวขวาไปทางป้ายสุพรรณบุรี ทางหลวงหมายเลข 3064 ขับตรงไปประมาณ 9 กิโลเมตร เมื่อเห็นโรงพยาบาลโพธิ์ทอง จะสังเกตุเห็นป้ายชี้ทางไปวัดขุนอิน ให้ชิดขวาเพื่อเตรียมกลับรถเลยครับ ทางเข้าวัดขุนอินทประมูล จะอยู่อีกฝั่งตรงข้ามกับโรงพยาบาลโพธิ์ทอง โดยเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร  ให้ดูแผนที่ประกอบครับ

แผนที่วัดขุนอินทประมูล

เมื่อเห็นโรงพยาบาลโพธิ์ ให้ชิดขวากลับรถ

เมื่อเห็นโรงพยาบาลโพธิ์ ให้ชิดขวากลับรถ

การเดินทางถือว่าสะดวกมาก เพราะมีป้ายบอกทางชัดเจนดี ถือว่าเป็นข้อดีอย่างมาก ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เสียเวลาหรือหลงทาง

บริเวณจุดจอดรถและร้านค้าของชาวบ้าน

บริเวณจุดจอดรถและร้านค้าของชาวบ้าน

บริเวณจุดจอดรถค่อนข้างกว้างขวาง ทางวัดจัดสรรไว้ดี แต่ไม่มีร่มนะครับ ส่วนร้านค้าชาวบ้านก็มีมาตั้งขายเป็นจำนวนมาก ถ้าหิวหรือเหนื่อยก็แวะพักอุดหนุนชาวบ้านด้วยนะครับเป็นการส่งเสริมอาชีพในชุมชน

พระอุโบสถ และเจดีย์แปดเหลี่ยม

พระอุโบสถ และเจดีย์แปดเหลี่ยม

พระอุโบสถและเจดีย์

พระอุโบสถและเจดีย์

ด้านหน้าพระอุโบสถ

ด้านหน้าพระอุโบสถ

พระพุทธรูปในพระอุโบสถ

พระพุทธรูปในพระอุโบสถ

อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสมัยอยุธยา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานอาคารเป็นฐานปัทม์สูง มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตกด้านละ 2 ช่อง ไม่มีร่องรอยการเจาะหน้าต่าง และไม่มีฐานใบเสมา ส่วนของหลังคาพังทลายไปหมดแล้ว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายที่มีการพอกด้วยปูนปั้น บริเวณพื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบ

เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม

ตั้งอยู่ติดกับอุโบสถทางทิศตะวันตก ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำแปดเหลี่ยม ส่วนยอดเป็นปล้องไฉนซ้อนชั้นขึ้นไป ปัจจุบันได้พังทลายลงมาบางส่วน สันนิษฐานเป็นเจดีย์สมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 22 – 23

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล

เรื่องราวประวัติการสร้างพระพุทธไสยาสน์และวัดขุนอินทประมูล

กล่าวกันว่าในสมัยกรุงสุโขทัยรุ่งเรือง พระยาเลอไทยได้เสด็จออกจากกรุงสุโขทัย เพื่อไปนมัสการสุกกทันตฤาษี ที่เขาสมอคอนในเขตเมืองละโว้ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้ารามคำแหง ผู้เป็นพระบิดา เมื่อนมัสการสุกกทันตฤาษี เรียบร้อยแล้ว พระยาเลอไทยได้พักที่เขาสมอคอนประมาณ 5 คืน จึงได้เสด็จข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเสด็จประพาธท้องทุ่งแต่เพราะน้ำทางเหนือไหลบ่าอย่างมากจึงได้เสด็จไปที่โคกบางพลัดและมีการสร้างพลับพลาประทับชั่วคราว

ขณะที่ทรงประทับแรมอยู่พระองค์ได้เกิดศุภนิมิต ฝันเห็นลูกไปดวงใหญ่ลอยไปในอากาศแล้วหายไปทางทิศตะวันออก พระยาเลอไทยจึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งและเกณฑ์ชาวบ้านขุดหลุมกว้าง 200 วา แล้ววางท่อนซุง นับร้อยท่อนวางขัดกันเป็นตาราง โดยให้เป็นฐาน แล้วขุดบ่อถมดินขึ้นมาสูงอีก 3 วา และกลุ่มคนอีกกลุ่มระดมทำอิฐเผาเพื่อสร้างพระพุทธไสยาสน์ กล่าวกันว่าโคกเผาอิฐและตำบลบ้านท่าอิฐ วัดท่าอิฐ ก็ได้ชื่อมาจากการสร้างวัดนี้นี่เอง ใช้เวลาสร้างพระพุทธไสยาสน์นาน 5 เดือน แล้วเสร็ประมาณปี พ.ศ. 1870 และได้พระราชทานชื่อว่า “พระพุทธไสยาสน์เลอไทยนฤมิตร” จากนั้นพระองค์ก็เสด็จกลับกรุงสุโขทัย

หลังจากกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจ พระพุทธไสยาส์แห่งนี้ก็ได้ถูกปล่อยทิ้งร้างกลางป่ารกเป็นเวลานาน เมื่อกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจ ได้มีพระภิกษุสงฆ์วิทยา ได้มาใช้วัดแห่งนี้ทำวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีชาวบ้านช่วยทำเพิงพักให้เป็นที่จำวัด

จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ มีนายอากรตำแหน่งขุนอินทประมูลเป็นคนจีนชื่อเดิมว่าเส็ง มีภรรยาคนไทยชื่อนาค ไม่มีบุตรสืบสกุล มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก จึงมีแนวความคิดจะบูรณะพระพุทธไสยาสน์ที่ตากแดดตากฝนเป็นเวลานานและต้องการสร้างวัดให้แล้วเสร็จ โดยแรกเริ่มนั้นได้ใช้ทรัพย์สินส่วนตัวประมาณ 100 ชั่ง มาสร้างวิหารและเจดีย์ด้านตะวันออกจนแล้วเสร็จ และเห็นว่าองค์พระพุทธไสยาสน์ทรุดโทรมอย่างหนัก ตัวองค์พระพังเกือบทั้งหมด มีชิ้นส่วนวางอยู่กับพื้นหลายชิ้น จึงทำการถางป่าและสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นใหม่ และทำการสร้างหลังคา โดยทำเป็นเสาอิฐก่อด้านบนเป็นเครื่องไม้ ด้านบนมุงด้วยหญ้าแฝก การซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์ได้ใช้ทรัพย์ส่วนตัวจนหมด จึงได้เจตนายักยอกทรัพย์ของพระเจ้าบรมโกศมาทำการสร้างจนแล้วเสร็จ และปกปิดข่าวไม่ให้ไปถึงกรุงศรีอยุธยา แต่ข่าวก็ได้ลือออกไปถึงพระยาวิเศษชัยชาญ จึงนำเรื่องกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ขุนอินทประมูลไม่ยอมรับสารภาพผิด จึงได้ถูกลงราชทัณฑ์ โดยการเฆี่ยน 3 ยก แต่ท่านก็ยังไม่สารภาพ สุดท้ายขุนอินทประมูลทนการเฆี่ยนไม่ไหวขณะใกล้สิ้นใจได้ขอพระราชทานโปรดเกล้าให้งดโทษและสารภาพว่าได้ยักยอกทรัพย์ไปจริง แต่มีจุดมุ่งหมายสร้างให้เพื่อเป็นการเสริมบารมี พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเห็นว่า ขุนอินทประมูลมีความเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาอย่างมากจึงโปรดเกล้าให้ฝังร่างขุนอินทประมูลไว้ในเขตพระวิหารหลังองค์พระพุทธไสยาสน์ ขุนอินทประมูลเสียชีวิตเมื่อวันอังคาร เดือน 5 พ.ศ. 2296 ประมาณอายุ 80 ปี และวัดนี้ได้พระราชทานนามว่า “วัดขุนอินทประมูล” และพระพุทธไสยาสน์ได้ถวายนามว่า “พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล”

เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ. 2310 ได้มีพม่าเข้ามาปล้น และถูกเผาพระวิหารทั้งหมด เกิดความเสียหาย ทำให้วัดขุนอินทประมูลถูกทอดทิ้งกว่า 400 ปี

จนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณ พ.ศ. 2410 สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ได้ขึ้นมาตรวจสอบพื้นที่เพื่อสร้างพระพุทธรูปนั่งพระมหาพุทธพิมพ์ที่วัดเกศไชโย อ่างทอง เวลานั้นเป็นฤดูน้ำหลาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้บอกชาวบ้านและผู้ติดตามแจวเรือเพื่อมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล และพักแรม 1 คืน

ปี พ.ศ. 2421 พระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล จากนั้นก็ได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน จนปี พ.ศ. 2501 ได้มีการซื้อที่ดินขยายพื้นที่วัด และสร้างศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิสงฆ์ แต่ก็มีเรื่องแปลกที่วิหารพระพุทธไสยาสน์ไม่เคยสร้างแล้วเสร็จ เพราะถูกฟ้าผ่าตลอดมา จึงเชื่อว่าเป็นอาถรรพ์ ของขุนอินทประมูล

โครงกระดูกขุนอินที่ถูกขุดพบ

โครงกระดูกขุนอินที่ถูกขุดพบ

เมื่อปี พ.ศ. 2541 ได้ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์บริเวณพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกของขุนอินทประมูล ลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท่าไพล่หลัง

พระอุโบสถหลังใหม่ สร้างอยู่หลังพระพุทธไสยาสน์

พระอุโบสถหลังใหม่ สร้างอยู่หลังพระพุทธไสยาสน์

พระอุโบสถหลังใหม่ สร้างอยู่หลังพระพุทธไสยาสน์

พระอุโบสถหลังใหม่ สร้างอยู่หลังพระพุทธไสยาสน์

ภายในพระอุโบสถหลังใหม่

ภายในพระอุโบสถหลังใหม่

จุดเช่าบูชาวัตถุมงคล ภายในอุโบสถหลังใหม่

จุดเช่าบูชาวัตถุมงคล ภายในอุโบสถหลังใหม่

วัตถุมงคล

วัตถุมงคล

จิตรกรรมฝาผนังด้านใน อุโบสถหลังใหม่

จิตรกรรมฝาผนังด้านใน อุโบสถหลังใหม่

จุดเด่นอีกจุดหนึ่งคือ รูปจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถหลังใหม่ ที่ให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ และได้สิทธิ์ของพื้นที่วาดรูปของตนเองติดฝาผนังของพระอุโบสถได้ ซึ่งปัจจุบัน (กันยายน 2557 ยังพอมีพื้นที่เหลือ) ถ้าสนใจทำบุญการสร้างพระอุโบสถ และต้องการมีรูปเหมือนของตนเองติดผนังก็รีบไปจับจองพื้นที่กันนะครับ

ช่างศิลป์ กำลังวาดรูปเหมือนของผู้มีจิตศรัทธาบนฝาผนังอุโบสถ

ช่างศิลป์ กำลังวาดรูปเหมือนของผู้มีจิตศรัทธาบนฝาผนังอุโบสถ

ปัจจุบันวัดขุนอินทประมูลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอ่างทอง และทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2500 และเริ่มการซ่อมแซมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2509

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินต้นในปี พ.ศ.2516 และเสด็จมานมัสการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518 พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างนิยมมานมัสการเป็นเนืองนิจ

วัดแห่งนี้ผมรับความรู้สึกได้ว่ามีความยิ่งใหญ่ในอดีต ซึ่งกว่าจะมีลักษณะในปัจจุบันนี้ก็มีเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และยิ่งได้รับรู้ข้อมูลว่าการสร้างพระพุทธรูปที่ยิ่งใหญ่เป็นสิ่งที่คนไทยศรัทธามาตั้งแต่โบราณ อีกทั้งวัดได้จัดสรรพื้นที่ได้สวยงามและร่มรื่น สะอาดตาอย่างมาก  มีร้านค้าของชาวบ้านเปิดให้บริการทั้งของที่ระลึกและอาหารเครื่องดื่มต่างๆ เป็นวัดที่ผมขอแนะนำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมากันให้ได้ครับ ไม่ผิดหวังแน่นอน

 

ประวัติวัดขุนอินทประมูลและพุทธรูปปางไสยาสน์

ภาพจิตรกรรมรูปเหมือน บนฝาผนัง อุโบสถหลังใหม่ วัดขุนอินทประมูล

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด