Faiththaistory.com

เทือกเขางู ราชบุรี อารยธรรมวิหารถ้ำโบราณพันปี

YouTube Poster

ก่อนหน้านี้ผมเคยเดินทางไปชมถ้ำฤาษี เทือกเขางู เมืองราชบุรีมาแล้ว ซึ่งเทือกเขาแห่งนี้ ประกอบด้วยถ้ำหลายแห่ง ที่เคยเป็นสถานที่ทางศาสนา มาตั้งแต่สมัยทวารวดี และน่าจะมีความเชื่อมโยงกับเมืองโบราณคูบัว ที่ห่างออกไปไม่ถึง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

ทิวทัศน์เทือกเขางู ถ่ายมาจากทางขึ้นถ้ำฝาโถ

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดราชบุรีอีกครั้ง เพื่อไปชมถ้ำต่างๆบนเทือกเขางู ที่ประกอบไปด้วยถ้ำหลักๆ 4 ถ้ำได้แก่ ถ้ำฤาษี ถ้ำจีน ถ้ำจาม และถ้ำฝาโถ ซึ่งแต่ละถ้ำล้วนพบร่องรอยการใช้พื้นที่ในทางศาสนา ได้แก่ภาพสลักและลวดลายปูนปั้นในศาสนาพุทธ อีกทั้งยังพบว่ามีภาพสลักพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ที่ถือว่าเป็นภาพสลักผนังถ้ำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

ถ้ำจามที่พบสลักพระนอนเก่าแก่ที่สุดในไทย

จุดแรกที่เราจะเดินทางขึ้นไปสักการะคือที่ถ้ำฤาษี จะเป็นถ้ำที่อยู่ไม่สูง นับได้คงไม่เกิน 40 ขั้นบันไดเท่านั้น จึงเป็นจุดที่หลายท่านคุ้นเคย และได้เข้าชมและสักการะมากที่สุด

สลักพระพุทธรูป ที่ถ้ำฤาษี

ถ้ำฤาษี ภายในเป็นถ้ำตื้นๆมีหลืบช่องเป็นถ้ำย่อยอีก 2 ถ้ำ มีพระพุทธรูปหลายองค์ พระพุทธรูปสำคัญของถ้ำฤาษีคือ สลักพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทปางแสดงธรรม มีความสูงราว 2.5 เมตร จากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้ระบุว่าปรากฏจารึกโบราณที่ฐานพระบาทลักษณะรูปอักษรเหมือนรูปอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ประเทศอินเดีย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12

ถ้ำฤาษี เขางู

ยอร์ช เซเดส์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวฝรั่งเศส เคยขึ้นมาสำรวจเมื่อปีพ.ศ.2472 และทำการอ่านชำระเพิ่มเติมคำแปลและคำอธิบายเมื่อปี พ.ศ.2504 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2529 อาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกโบราณ ได้ทำการอ่านและแปลจารึกนี้ใหม่อีกครั้ง

จารึกอักษรปัลวะ ใต้ฐานพระพุทธรูปสลัก (ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร)

ความแปลพอสังเขป อธิบายว่าอาจเป็นการบอกชื่อของผู้สร้างพระพุทธรูป ในที่นี้คือ ฤาษีสมาธิคุปตะ หรือ พระศรีสมาธิคุปตะ ว่าเป็น ผู้บริสุทธิ์ ด้วยการทำบุญ

จากจารึกนี้ จึงมีการสร้างรูปฤาษีในหลืบถ้ำเพื่อเป็นการแสดงถึงสถานที่บำเพ็ญพรตของฤาษีผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมา และเป็นที่มาของชื่อถ้ำฤาษีเขางู ที่เรียกกันในปัจจุบันนี้

ทางขึ้นสู่ถ้ำฝาโถ

หลังจากที่ขึ้นไปยังถ้ำฤาษีแล้ว ผมจึงได้เดินต่อไปยังถ้ำจาม ซึ่งจะอยู่ถัดจากถ้ำฤาษีเข้าไป ระยะทางไม่สูงมากนัก เดินขึ้นได้สบายๆครับ 

ที่ถ้ำฝาโถ พบว่าเป็นถ้ำธรรมชาติ ภายในพบภาพสลักพระพุทธไสยาสน์ พระเศียรอยู่ทางปากถ้ำทอดพระวรกายเข้าไปในถ้ำ เหนือพระเศียร มีประภามณฑลเป็นลวดลาย ประจำยามก้ามปู ซึ่งมีมาก่อนแล้วในศิลปะอินเดีย

สลักพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่ถ้ำฝาโถ

เหนือขึ้นไปเป็นปูนปั้นรูปต้นไม้ประดับลวดลายวิจิตรสวยงามยิ่งนัก ถ้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์คงเห็นรายละเอียดการอธิบายภาพได้มากกว่านี้

ลายปูนปั้นรูปต้นไม้ ที่ถ้ำฝาโถ

ถัดเข้าไปในถ้ำ มีพระพุทธรูปสร้างใหม่เป็นพระประธาน ด้านหลังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงจำนวนมาก คงเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ที่พบแหล่งหินทรายแดงจำนวนมากในพื้นที่แถบนี้

ภายในถ้ำฝาโถ พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงจำนวนมาก

หลังจากชทผมจะพาเดินขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาท เขางู ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทที่จำลองไว้ด้านบน ผมได้สอบถามพระได้ความว่า จะมีความสูงกว่าถ้ำฝาโถ 2 เท่า และมีความชันมากกว่า ในอดีตผู้คนจะนิยมเดินขึ้นสักการะพระพุทธบาท แต่เนื่องด้วยเส้นทางที่สูงชัน ผู้คนจึงไปสักการะที่ถ้ำฤาษีมากกว่า แต่ถ้าได้มาถึงที่นี่กันแล้ว ผมขอแนะนำให้ขึ้นไปให้ถึงนะครับ

วิหารพระพุทธบาท เขางู ราชบุรี

ที่วิหารมีพระพุทธรูปหลายองค์ น่าจะเป็นพระพุทธรูปเก่าที่สร้างจากหินทราย ด้านหน้าพระพุทธรูป เป็นรอยพระพุทธบาทสลักบนหิน มีลวดลายด้านใน เป็นสถานที่สักการะที่มีความสูงที่สุดของเทือกเขางูแห่งนี้ ผมได้ทำการสักการะบูชา แล้วจึงเดินลงไปเพื่อไปยังถ้ำจีน และถ้ำจาม ต่อไปครับ

พระพุทธบาท เขางู ราชบุรี

เมื่อลงมาถึงด้านล่าง ต้องเดินต่อไปอีกประมาณ 200 เมตร เพื่อไปยังถ้ำจีนและถ้ำจาม ซึ่งจะมีลิงอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ต้องกังวลนะครับ ลิงที่นี่ไม่ทำร้ายคน

ทางขึ้นถ้ำจีนและถ้ำจาม เขางู ราชบุรี

ทางเขาถ้ำจีน เขางู ราชบุรี

ผมใช้เวลาขึ้นไปถึงถ้ำจีนไม่นานนัก ลักษณะถ้ำค่อนข้างกว้างและสูงขึ้นไป พบสลักพระพุทธรูป 2 องค์ ที่น่าจะมีการปรับปรุงบูรณะในสมัยอยุธยา เพราะพบว่ามีร่องรอยของการเป็นพระพุทธรูปแบบนั่งห้อยพระบาท คล้ายที่ถ้ำฤาษี ภายในถ้ำพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายอีกจำนวนหนึ่ง เช่นเดียวกับที่ถ้ำฝาโถ

ถ้ำจีน เขางู ราชบุรี

หลังจากที่ผมได้ชมถ้ำจีนแล้ว จึงเดินไปทางด้านซ้ายจะเป็นถ้ำจาม ซึ่งจะพบสลักพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ข้อมูลจากหนังสือพระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย ได้อธิบายการสร้างพระนอน ไว้ว่า แรกเริ่มนั้นน่าจะมาจากตอนปรินิพพานในพุทธประวัติเป็นสำคัญ พระพุทธรูปปางนี้มีการพบน้อยมากในศิลปะสมัยทวารวดี ที่มีตัวอย่างให้เห็นและมีความสำคัญและเก่าแก่ในประเทศไทย คือ ประติมากรรมนูนต่ำ ที่ถ้ำจาม และถ้ำฝาโถ บนเทือกเขางู ราชบุรี

สลักพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ที่ถ้ำจาม เขางู ราชบุรี

ที่ถ้ำจาม พบประติมากรรมปางปรินิพพานนี้ค่อนข้างเลือนลาง และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสลักพระนอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่น่าจะสัมพันธ์กับที่พบในอินเดีย เช่น พระพุทธรูปปางปรินิพพานที่ถ้ำอชันตา หมายเลขที่ 26

ปูนปั้นตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ ในถ้ำจาม เขางู ราชบุรี

ในถ้ำจาม มีกลุ่มภาพสลักและลวดลายปูนปั้นหลากหลาย เช่น ที่หน้าปากถ้ำ พบปูนปั้นพังพานพญานาค น่าจะเป็นการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก มีภาพพุทธประวัติตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ ท่ามกลางต้นมะม่วงที่มีผลอยู่เต็มต้น ซึ่งเป็นที่นิยมทำกันในสมัยทวารวดี รวมถึงลวดลายอื่นๆที่ประดับผนังถ้ำ แต่ได้แตกหลุดชำรุดจนไม่สามารถอธิบายการสื่อความหมายได้

พังพานพญานาค ที่ถ้ำจาม เขางู ราชบุรี

ถ้ำจาม เขางู ราชบุรี

การท่องเที่ยวโบราณสถานที่ถ้ำเขางู เป็นอารยธรรมเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์ ถือได้ว่ามีความโชคดีที่คณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2530 มีมติหยุดยั้งการสัมปทานระเบิดเขาหินปูนได้ทันการณ์ ก่อนที่ภูเขาหินทั้งลูกนี้จะพินาศหายไปหมดสิ้นครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ / แอดมินลุงตั้ม (นายยุทธนา ผิวขม)

ช่องทางการติดตาม

Facebook : เพจภารกิจเที่ยววัด

YouTube : FaithThaiStory

TikTok : FaithThaiStory 

Exit mobile version