ถ้ำเขาคูหา สงขลา ถ้ำขุดพันปีเก่าแก่ที่สุดในไทย อารยธรรมฮินดูโบราณ

By | December 29, 2023

ผมได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ วัดพะโคะ จ.สงขลา และด้วยความบังเอิญระหว่างการเดินทาง ผมได้ดูแผนที่บน Google Map เห็นลักษณะภูมิศาสตร์ คล้ายสระน้ำอยู่ใกล้เคียงกับวัดพะโคะ และทราบว่าคือแหล่งชุมชนโบราณ ที่เรียกกันว่า “โบราณสถานถ้ำเขาคูหา” ที่ปรากฏร่องรอยโบราณสถาน การอยู่อาศัย และพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ของมนุษย์เมื่อกว่าพันปีที่แล้ว

ตำแหน่งโบราณสถานถ้ำเขาคูหา

หลังจากเที่ยววัดพะโคะ ผมจึงได้เดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น เราจะมองเห็นภูเขาลูกเตี้ยๆอยู่เบื้องหน้า แล้วมีถนนเส้นเล็กๆเชื่อมต่อไปยังโบราณสถานถ้ำเขาคูหาแห่งนี้

โบราณสถานถ้ำเขาคูหา

เขาคูหา ปรากฏถ้ำขุด 2 ถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันออก วางตัวในแนวทิศเหนือและใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนโบราณ ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ

ตำแหน่งโบราณสถานถ้ำคูหา บนคาบสมุทรสทิงพระ

งานวิจัยเรื่อง เขาคูหาถ้ำศาสนสถาน สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์บนคาบสมุทรสทิงพระ โดยธัชวิทย์ ทวีสุข มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวสรุปว่า เป็นคูหาถ้ำในศาสนาพราหมณ์ที่ขุดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12- 14 ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ โดยมีชาวอินเดีย โดยเฉพาะอินเดียใต้ได้เดินทางเข้ามาเพื่อทำการค้า และมีการตั้งชุมชนและศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตนในพื้นที่แถบนี้

เขาลูกเตี้ยๆ ที่ปรากฏถ้ำขุด 2 ถ้ำ

ผมได้เดินเข้าไปชมถ้ำที่ 1 ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ พบว่าเป็นถ้ำที่ถูกเจาะเป็นรูปโค้งมน กว้างประมาณ 5 เมตร ลึกเข้าไปราว 8 เมตร มีแท่นฐานด้านใน น่าจะเป็นที่ตั้งรูปเคารพ ทางด้านซ้ายมือของถ้ำจะมีร่องน้ำที่เซาะให้น้ำไหลออกไปทางปากถ้ำ และมีอ่างกลมอยู่ด้านนอก ซึ่งน่าจะเป็นการรับน้ำศักดิ์สิทธิ์จากภายในถ้ำเพื่อประกอบพิธีกรรมด้านนอกอีกด้วย โดยพบหลักฐานว่า ด้านหน้าถ้ำจะมีแท่นบูชาศิวลึงค์ และร่องรอยของโบราณสถานที่พังทลายไปแล้ว

ภายในถ้ำฝั่งทิศเหนือ

ร่องน้ำของถ้ำฝั่งทิศเหนือ

อ่างกลมที่รับน้ำไหลออกมาจากปากน้ำ (ถ้ำฝั่งทิศหนือ)

แท่นบูชาศิวลึงค์ และร่องรอยโบราณสถานด้านนอก

จากนั้นผมได้เดินไปยังถ้ำที่ 2 ทางทิศใต้ พบว่ามีลักษณะการเจาะเป็นถ้ำคล้ายกัน แต่ด้านในผนังถ้ำ ปรากฏรอยรูปวงกลมเขียนด้วยสีแดง ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า จะเป็นสัญลักษณ์ที่เรียกว่า “โอม”

ถ้ำฝั่งทิศใต้

จำลองสัญลักษณ์ “โอม” ที่ผนังถ้ำด้านใน

คุณธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี ได้กล่าวถึงสัญลักษณ์นี้ เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู เป็นเครื่องหมายแห่งสรรพสิ่งทั้งหลายในสากลโลก หมายถึงการรวมเข้าไว้ด้วยอักขระ 3 ตัว คือ อะ อุ มะ

อะ หมายถึง พระศิวะ

อุ หมายถึง พระวิษณุ

และ มะ หมายถึง พระพรหม

คือเทพเจ้าสำคัญในศาสนาฮินดู

การศึกษาทางโบราณคดีที่ถ้ำแห่งนี้ พบศิวลึงค์ที่แตกชำรุด และประติมากรรมพระวิษณุสี่กร ที่แตกชำรุดเช่นกัน กำหนดอายุโบราณวัตถุทั้งสองชิ้น อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12 – 14

ประติมากรรมพระวิษณุสี่กร ที่แตกชำรุด (ภาพจากสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา)

หลังจากชมคูหาถ้ำแล้ว ผมจึงได้เดินทางไปยังตระพังพระ หรือสระน้ำโบราณ ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำไปทางทิศตะวันออกราว 300 เมตรครับ

ตระพังพระ (สระน้ำโบราณ)

สระน้ำแห่งนี้น่าจะมีความสำคัญเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมเช่นกัน เพราะอยู่ไม่ห่างจากคูหาถ้ำ จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า ที่เกาะกลางสระน้ำ มีการพบ พระอคัสตยะทำจากสำริด มีความสูง 20 ซม. มีความเชื่อว่าเป็นผู้นำในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และอารยธรรมต่างๆ ให้กับชาวอินเดียใต้ ปัจจุบันโบราณวัตถุชิ้นนี้ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ วัดมัชฌิมาวาส เมืองสงขลา

พระอคัสตยะทำจากสำริด

คูหาถ้ำแห่งนี้ จึงถือเป็นคูหาถ้ำขุดแห่งเดียวและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และมีความน่าสนใจ ในการศึกษาเรื่องราวในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพื้นที่แถบนี้อย่างยิ่ง

ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ / แอดมินลุงตั้ม (นายยุทธนา ผิวขม)

ช่องทางการติดตาม

Facebook : เพจภารกิจเที่ยววัด

YouTube : FaithThaiStory

TikTok : FaithThaiStory