วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังภาคอีสาน เพื่อบูชาเจดีย์พระธาตุที่สำคัญองค์หนึ่งของจังหวัดขอนแก่น นั่นก็คือ “พระธาตุขามแก่น” ที่วัดเจติยภูมิ
จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองที่ถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งภาคอีสาน เพราะเป็นศูนย์รวมความเจริญของภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจและการศึกษา มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่และเป็นมหาวิทยาลัยประจำภาคอีสานเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีกมากมาย
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเดินทางไปขอนแก่นเพื่อมาท่องเที่ยวสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น นั่นก็คือพระธาตุขามแก่น ที่วัดเจติยภูมิ… จังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญต่อองค์พระธาตุขามแก่นอย่างมาก จึงมีตราประจำจังหวัดขอนแก่นเป็นรูปพระธาตุขามแก่น จนถึงปัจจุบันนี้
วัดเจติยภูมิ ตั้งอยู่ที่ บ้านขาม หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ลักษณะตราประจำจังหวัดขอนแก่น จะเป็นรูปพระเจดีย์ครอบต้นมะขาม จึงถือได้ว่าพระธาตุขามแก่น เป็นปูชนียสถานสำคัญที่สุดของจังหวัดขอนแก่นเลยก็ว่าได้ และมีตำนานเรื่องเล่ากันมาแต่โบราณที่น่าอัศจรรย์ จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่เราควรเดินทางไปกราบไหว้บูชาเพื่อระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ซึ่งผมจะเขียนไว้ต่อไปครับ
บรรยากาศค่อนข้างร้อนครับ แต่ก็ยังมีร่มไม้ให้ได้หลบร้อนกระจายอยู่โดยทั่วไปภายในวัด อีกทั้งทางวัดได้จัดให้บริการร่มเอาไว้ให้ด้วย
เมื่อเข้ามาในบริเวณวัด เราจะเห็นองค์พระธาตุสีขาว และส่วนยอดจะมีสีทองสวยงาม
เนื่องจากวันที่ผมเดินทางไปท่องเที่ยว เป็นวันสงกรานต์ จึงได้เห็นมีการจัดประเพณีในวันสงกรานต์ด้วยครับ
ชาวพุทธที่เดินทางมากราบไหว้พระเจดีย์พระธาตุขามแก่น ต่างคนก็ต่างมาด้วยความศรัทธา จุดธูปเทียนบูชา พรมของหอมที่พระเจดีย์เพื่อเป็นการบูชา ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
ตำนานพระธาตุขามแก่น มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมานานเป็นพันปี ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง จึงขอนำเรื่องราวแห่งตำนานนี้มาเขียนไว้ให้อ่านกันครับ
ตำนานพระธาตุขามแก่น
นับแต่การเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จ แล้ว พระบรมสารีริกธาตุได้ถูกนำไปประดิษฐานไว้ในที่ต่าง ๆ คือ พระสารีริกธาตุกระโยงหัว (กะโหลกศีรษะ) ฆะฏิการพรหมนำไปไว้บนเทวโลก, พระธาตุเขี้ยวหมากแง (พระเขี้ยวแก้ว) พระอินทร์นำไปไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์,พระธาตุกระดูกด้ามมีด (พระรากขวัญ ) พระยานาคนำไปไว้เมืองบาดาล
ครั้งต่อมาโมริยกษัตริย์เจ้านครโมรีย์ (อยู่ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน) ทราบข่าวภายหลังเพราะอยู่ห่างไกลและเดินทางช้า จึงได้แต่พระอังคารธาตุ (ฝุ่น) แล้วนำไปไว้ที่นครของตน ประมาณพุทธศักราชล่วงมาได้ 3 ปี พระมหากัสสปะเถระเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ นำเอาพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก) ไปประดิษฐานไว้ภูกำพร้า (พระธาตุพนมในปัจจุบัน) พระยาหลังเขียวโมริยกษัตริย์ และพระอรหันต์ยอดแก้ว, พระอรหันต์รังษี, พระอรหันต์คันที และไม่ปรากฏชื่ออีก 6 องค์ จึงเดินทางพร้อมอัญเชิญเอาพระอังคารธาตุเพื่อไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนมด้วย ระหว่างทางได้มาถึงพื้นที่แห่งหนึ่ง (ที่ตั้งของพระธาตุขามแก่นในปัจจุบัน) มีพื้นที่พื้นที่ดอน ราบเรียบ มีห้วยสามแยก น้ำไหลผ่านรอบดอน และมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่นอยู่ต้นหนึ่ง
ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำพอดี ประกอบกับพื้นที่มีความเหมาะสมจึงได้พักแรมที่นี่ และนำเอาพระอังคารธาตุไปวางพักไว้บนแก่นของต้นมะขามที่ตายแล้วดังกล่าว พอรุ่งเช้าทั้งคณะก็เดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป
พอไปถึงปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว ไม่สามารถนำพระอังคารธาตุบรรจุลงไปได้อีก จึงจำต้องนำเอาพระอังคารธาตุนั้นกลับตามเส้นทางเดิม โดยตั้งใจว่าจะนำกลับไปไว้ที่นครของตนตามเดิม เมื่อมาถึงดอนมะขามซึ่งเคยเป็นที่พักแรม ครั้งก่อน ได้เห็นต้นมะขามใหญ่ที่ล้มตายเหลือแต่แก่นนั้นกลับผลิตดอก ออกผล แตกกิ่งก้านสาขามีใบเขียวชะอุ่มแลดูงามตายิ่งนัก จะเป็นด้วยเทพเจ้าแสร้งนิมิต หรือด้วยอำนาจอภินิหารของพระอังคารธาตุก็มิอาจรู้ได้ เห็นเป็นอัศจรรย์เช่นนั้นจึง พร้อมกันก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม และบรรจุพระอังคารธาตุของพระเจ้าไว้ภายในด้วย โดยมีรูปลักษณะดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จึง เรียกชื่อพระธาตุนี้ว่า “พระธาตุขามแก่น”
หลังจาการก่อสร้างพระธาตุเสร็จแล้ว พระยาหลังเขียวพร้อมด้วยบริวารได้สร้างบ้านแปลงเมืองอยู่ตรงนี้ และได้สร้างวัดให้เป็นที่พำนักของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ซึ่งมีวิหาร และพัทธสีมาเคียงคู่กับองค์พระธาตุสืบมา ครั้นกาลล้วงมาพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ก็ได้ดับขันธ์ปรินิพพาน ชาวเมืองนำเอาอัฐิธาตุของท่านบรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของ อุโบสถในเวลานี้ ต่อมาประชาชนจึงเรียกพระธาตุองค์ใหญ่ว่า ครูบาทั้งเก้าเจ้ามหาธาตุ ส่วนพระธาตุองค์เล็กเรียกว่า ครูบาทั้งแปด
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระธาตุขามแก่น
เรื่องราวนี้ก็เป็นตำนานเล่าขานกันมาแต่โบราณ ทำให้ได้รับความศรัทธาและบูชาเพื่อระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าตราบจนทุกวันนี้
บทสรุป
บรรยากาศโดยรวมค่อนข้างร้อนครับ แต่มาถึงก็ไม่ร้อนใจเลย ยังสามารถหาที่หลบร้อนตามร่มไม้ภายในวัดได้ อีกทั้งยังมีศาลาให้พักหลบร้อนกันได้ด้วย และยิ่งได้รับทราบตำนานเรื่องของพระธาตุขามแก่น ยิ่งทำให้รู้สึกศรัทธาและลืมความร้อนไปเลย … ถือว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดขอนแก่น และผมกล้าการันตีเลยครับ สำหรับท่านที่ชอบเที่ยววัดทำบุญ ถ้าได้เดินทางมาขอนแก่น ห้ามพลาดสถานที่แห่งนี้เลยครับ
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด