วัดเวฬุวันหรือวัดเขาจีนแล ตามรอยตำนานขุนเขาลพบุรี ตอนเจ้ากงจีน

By | April 10, 2016


https://youtu.be/7UZH0J_PiVc

มาเดินทางท่องเที่ยวกันต่อครับ ในการท่องเที่ยววัดตามรอยตำนานขุนเขาเมืองลพบุรี ซึ่งก็ใกล้จะครบตามโปรแกรมแล้ว ครั้งนี้เรามากันถึง วัดเวฬุวันหรือวัดเขาจีนแล เนื่องจากวัดแห่งนี้อยู่กลางหุบเขาจีนแล ด้านบนของขุนเขาจะประดิษฐานพระพุทธรูป “พระพุทธธรรมรังษี มุนีนาถศาสดา” ซึ่งสร้างตามดำริของท่านพ่อลี อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม

การเดินขึ้นสู่จุดสูงสุดที่วัดแห่งนี้ จะขึ้นบันไดด้วยความสูง 436 ขั้น ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าเป็นอุปสรรคนักเพราะผมเคยเดินขึ้นเขาที่สูงกว่านี้มาก แต่ด้วยอากาศร้อนในวันที่ผมเดินทาง ก็ทำเอาคิดหนักเหมือนกัน กว่าจะตัดสินใจเดินขึ้นไป ก็ต้องคิดหลายรอบ

วัดเวฬุวันหรือวัดเขาจีนแล มีเรื่องราวสอดคล้องตามตำนานขุนเขาเมืองลพบุรีที่ว่า ครั้งหนึ่งลพบุรีเป็นเมืองท่าสำคัญที่ทำการติดต่อซื้อขายกับชาวจีน ต่อมาเจ้ากงจีนได้ขนสินสอดมาทางเรือสำเภาเพื่อมาสู่ขอนางนงประจันทร์ แต่เรือได้ล่มลง ลูกเรือชาวจีนต่างก็กระโจนลงจากเรือ และแลมองทรัพย์สมบัติต่างๆ จมลงสู่ท้องทะเล ต่อมาได้เกิดขุนเขาขึ้นมา ณ จุดตรงนี้ จึงเรียกว่าเขาจีนแล หรือเขาจีนโจน นั่นเอง

การเดินทางวันนี้ ได้เห็นสภาพบรรยากาศธรรมชาติที่สวยงามมากครับ แต่เสียดายที่ผมมาช้าไปนิด เพราะเส้นทางนี้จะปลูกดอกทานตะวันสวยงามมาก แต่วันที่ผมเดินทางก็เป็นช่วงที่ดอกทานตะวันร่วงโรยไปหมดแล้ว

เส้นทางสู่วัดเวฬุวัน

เส้นทางสู่วัดเวฬุวัน

ขับรถมาตามถนน ก็เห็นผู้คนนักท่องเที่ยวต่างเดินทางและหยุดถ่ายรูปอยู่เป็นระยะ เพราะทิวทัศน์จะสวยงามจากธรรมชาติของขุนเขา

ปากทางเข้าวัดเวฬุวัน

ปากทางเข้าวัดเวฬุวัน

เมื่อเข้าสู่พื้นที่วัด จะเห็นซุ้มประตูเป็นหัวหนุมาน ดูแปลกตาดีครับ

พื้นที่วัดเวฬุวัน

พื้นที่วัดเวฬุวัน

เมื่อเดินทางมาถึงวัด ก็ได้หาที่จอดรถ ซึ่งก็มีกว้างขวางมากครับ จอดได้ตามสะดวก แต่ก็ระมัดระวังฝูงลิงไว้บ้างก็ดี เพราะมีเยอะพอสมควร บรรยากาศที่เราเดินทางมาถึงต้องบอกว่าร้อนเอาการ จึงมีผู้คนเดินทางมาน้อย แต่ผมเชื่อว่าในช่วงอากาศเย็นๆ สถานที่แห่งนี้เหมาะอย่างยิ่งในการเดินทางท่องเที่ยวและปฏิบัติธรรม เพราะอยู่ท่ามกลางขุนเขา…ผมคิดอยู่ในใจว่า จะหาโอกาสเดินทางไปช่วงฤดูหนาวอีกสักครั้ง คงจะได้บรรยากาศที่ดีกว่านี้

พระอุโบสถสวยงาม

พระอุโบสถสวยงาม

บรรยากาศในวัด

บรรยากาศในวัด

จากนั้นกลุ่มของเราก็พากันเดินทางเพื่อหาทางขึ้นเขา ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ด้านบน

ทางขึ้นเขา

ทางขึ้นเขา

กลุ่มของผมมาเดินมาถึงทางขึ้น ก็พากันมองหน้ากันและกัน เป็นนัยว่า เราจะขึ้นกันมั้ย … ผมจึงตัดสินใจบอกว่า ไหนๆก็มากันแล้ว ไม่ใช่มาได้บ่อยๆ ก็ขอขึ้นไปเลยแล้วกัน… ทั้งนี้ความสูงไม่ได้มากนักนะครับ แต่ด้วยอากาศร้อนมาก ทำให้กำลังใจมันถอยไปเยอะ

เดินขึ้นเขาแล้วครับ

เดินขึ้นเขาแล้วครับ

และก็เป็นอย่างคิด เพราะหนึ่งในทีมเดินทางถึงกับขาอ่อน นั่งหมดสภาพเลยทีเดียว แต่ผมต้องรักษาภาพพจน์นิดนึงขอรีบขึ้นหนีตากล้องไปก่อน ฮ่าๆ ทั้งๆที่เหนื่อยแทบแย่

ในที่สุดก็มาถึงแล้วครับ

ในที่สุดก็มาถึงแล้วครับ

ในที่สุดก็มากันถึง แต่ก็ยังไม่สูงสุดนะครับ พอดีว่ามีศาลาเป็นร่มเลยขอหยุดพักกันเล็กน้อย ผมก็นอนหมดสภาพตรงนี้นานหลายนาทีเหมือนกัน…

บรรยากาศด้านบน

บรรยากาศด้านบน

หลังจากที่ผมพักนานหลายนาที ก็เดินขึ้นไปต่อ เพื่อพิชิตขุนเขาแห่งนี้ ซึ่งมีความสูงที่ 436 ขั้นบันได

นั่งพักอีกรอบ

นั่งพักอีกรอบ

เมื่อมาถึงเป้าหมายผมก็พุ่งไปยังม้านั่งทันที เพราะเหนื่อยเอาการประกอบกับลืมพกน้ำขึ้นมาด้วย แถมอากาศร้อนแรงสุดๆเมืองไทย จากนั้นผมก็ไปกราบนมัสการพระพุทธรูปใหญ่ด้านบน พระนามว่า “พระพุทธธรรมรังษี มุนีนาถศาสดา” ซึ่งดำริให้สร้างโดยท่านพ่อลี อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม

พระพุทธธรรมรังษี มุนีนาถศาสดา

พระพุทธธรรมรังษี มุนีนาถศาสดา

ชมบรรยากาศด้านบน

ชมบรรยากาศด้านบน

เมื่อผมเดินทางมาถึงวัดเวฬุวันแล้ว ก็ต้องบอกว่าบรรยากาศดีครับ เพียงแต่ผมมาผิดเวลาเท่านั้น ถ้ามาในช่วงที่อากาศไม่ร้อน จะได้บรรยากาศที่ดีกว่านี้มาก แม้อากาศจะร้อนแรงแต่ผมก็ชอบสถานที่แห่งนี้อย่างบอกไม่ถูก และจะหาโอกาสกลับไปอีกครั้ง

ก่อนจบบทความผมขอคัดลอกประวัติวัดเวฬุวันแห่งนี้มาไว้ในบทความด้วย

ประวัติวัดเวฬุวันหรือวัดเขาจีนแล

วัดเวฬุวัน ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑ หมู่ ๗ ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี อยู่ในหุบเขาจีนแล มีเนื้อที่โดยพฤตนัยประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตร เนื้อที่โดยนิตินัย ๖๔ ไร่ ๓๘ ตารางวา

อาณาเขต

ทิศเหนือ จรดเขาสะอางค์
ทิศตะวันออก จรดเขาจีนแล
ทิศตะวันตก จรดเขาหนอกวัว
ทิศใต้ จรดที่ราชพัสดุของศูนย์สงครามพิเศษ
วัดเวฬุวันเป็นสถานที่สงบวิเวก เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรมภาวนาอย่างยิ่งมีป่าไม้ปกคลุมร่มเย็นสดชื่น ร่มรื่น เหมาะกับผู้รักและใฝ่ในธรรมที่จะไปแสวงหาความสงบผ่อนคลายจิตที่เคร่งเครียดให้เกิดความสุข

การได้มาของที่ดิน
ขออนุมัติจากกระทรวงกลาโหม แยกจากที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์กระทรวงการคลัง แปลงหมายเลขทะเบียน ๓๙๕๙๒

วัดเวฬุวันนั้น แต่เดิมเมื่อเป็นสำนักสงฆ์ ชาวเมืองลพบุรีเรียกว่า “ วัดเขาจีนแล ” เพราะตั้งอยู่บนหุบเขาจีนแล เมื่อสร้างวัดเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงขอพระราชทานวิสุงคามสีมา พร้อมทั้งขอตั้งนามวัดว่า “ วัดเวฬุวัน ” นามวัดนี้สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฎฐายีมหาเถระ) วัดมกุฎกษัตริยารามได้ทรงแนะนำไว้เมื่อครั้งเสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ในการสร้างพระพุทธธรรมรังสีมุนีนาถศาสดา ทางราชการจึงได้สถาปนานามวัดว่า “ วัดเวฬุวัน ” ตามที่คณะกรรมการเสนอขอตั้งไป

ประเภทวัด
วัดเวฬุวัน (เขาจีนแล) เป็นวัดชั้นสามัญ “ วัดราษฎร์ ” เพราะเป็นวัดที่ราษฎรจัดสร้างขึ้น

เขตวิสุงคามสีมา
วัดเวฬุวันมีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร วัดรอบพระอุโบสถทั้ง ๔ ทิศ

การปักเขตวิสุงคามสีมา
วัดเวฬุวันได้ดำเนินการปักเขตวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘ โดยการประสานงานของนายศิลา เนตรวงศ์ ตามบัญชาของท่านพระครูภาวนานุโยค เจ้าอาวาสให้ไปเชิญศึกษาธิการอำเภอเมืองลพบุรีในฐานะตัวแทนกรมการศาสนาให้มาร่วมพิจารณาปักเขต การปักเขตในวันนั้นมีกรรมการ ๓ ท่าน คือ
๑.ท่านพระครูภาวนุโยค  เจ้าอาวาส                                        เป็นประธานกรรมการ
๒.นายสุพิณ นาคศิริ      ศึกษาธิการอำเภอเมืองลพบุรี                              เป็นกรรมการ
๓.นายศิลา เนตรวงศ์     ข้าราชการบำนาญกระทรวงสาธารณสุข,ไวยาวัจกร   เป็นกรรมการ

เมื่อคณะกรรมการทั้ง๓พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการวัดและปักเขตวิสุงคามสีมาถูกต้องเรียบร้อยแล้วก็ได้ลงนามไว้ในด้านหลังหนังสือสำคัญ พระราชทานวิสุงคามสีมา แล้วนำหนังสือสำคัญฉบับนั้นเข้ากรอบเรียบร้อยนำไปแขวนไว้ ณ ผนังอุโบสถด้านใน ทางทิศเหนือตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ผู้ค้นพบสถานที่และผู้บุกเบิกสร้างวัดคนแรก

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๖ แม่อินทร์ ศิริมงคล ซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ ๔๕ ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดลพบุรีมีสามีชื่อ แซ ศิริมงคล ทำมาหากินในการขายผ้าและทอง ในปีดังกล่าว แม่อินทร์ไม่ค่อยสบาย กล่าวคือ เจ็บบริเวณหน้าอกและเป็นมากขึ้น รักษาเยียวยาอย่างไรก็ไม่ทุเลา วันหนึ่งในปีนั้นแม่อินทร์ได้ไปวัดมณีชลขันธ์อย่างปกติที่เคยปฏิบัติมา ได้พบพระอาจารย์ประทุมก็ได้เล่าเรื่องการเจ็บป่วยดังกล่าวให้ท่านฟัง พระอาจารย์ประทุมได้แนะนำว่า ให้ไปพบท่านพ่อลี ไปทำสมาธิกับท่านอาจจะหาย ท่านพ่อลีมีนามเต็มว่า พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภี เมธาจารย์) เจ้าอาวาสวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ  สมัยนั้นท่านพ่อลีอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านพ่อลีเป็นผู้สร้างไว้ แม่อินทร์จึงได้ไปพบท่านพ่อลีที่ วัดป่าคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี เพื่อขอรักษาโรคที่เป็นอยู่ เพียงเอ่ยปากเท่านั้น ท่านพ่อลีก็สามารถทำให้แม่อินทร์ ต้องตะลึงไป เพราะท่านสามารถบอกอาชีพแม่อินทร์ได้ว่ามีอาชีพอะไร ท่านพ่อลีกล่าวว่า อาชีพขายผ้าและทองนี้ก็ดีอยู่แล้วและก็เข้ากับลักษณะของแม่อินทร์ เพราะแม่อินทร์เป็นผู้ที่สนใจธรรมะ การค้าขายของดังกล่าวเหล่านี้เป็นของไม่บาป ท่านพ่อลีบอกว่า บุญก็บีบคั้นอยู่แล้วทำไมจะต้องไปค้าไปขายอะไรอีก แม่อินทร์พอใจท่านพ่อลีมาก
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แม่อินทร์ก็ติดสอยห้อยตามท่านไปทุกหนทุกแห่ง แต่ก็ยังไม่ได้บวชเป็นชี ยังคงเป็นฆราวาสอยู่อย่างนั้น ส่วนสามีของแม่อินทร์ก็คงทำการค้าขายต่อไปอยู่อย่างเดิม ในระหว่างนั้นแม่อินทร์ได้รับรสของธรรมะมากขึ้นตามลำดับ จนมีความสามารถที่จะนั่งสมาธิและขจัดโรคร้ายลงไปจนเกือบหมดสิ้น ครั้งสุดท้ายแม่อินทร์ได้กล่าวของให้ท่านพ่อลีได้ช่วยรักษาเศษโรคร้ายที่เหลืออยู่ประมาณแค่หัวแม่มือให้หมดสิ้นไป แต่ท่านพ่อลีไม่ได้ให้ยารักษาโดยตรง กล่าวคือท่านพ่อลีขากเอาเสลดให้แม่อินทร์แทนยาที่แม่อินทร์ขอ ทราบว่าแม่อินทร์ก็สามารถรับประทานเสลดของท่านพ่อลีเข้าไปได้ และยังกล่าวอีกว่า มันๆดี และโรคร้ายของแม่อินทร์ก็หายโดยเด็ดขาด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความเลื่อมใสที่แม่อินทร์มีต่อท่านพ่อลีเป็นอันไม่สามารถคณานับได้

ต่อมาท่านพ่อลี ได้ไปสร้างวัดอโศการามที่จังหวัดสมุทรปราการ แม่อินทร์ก็ได้ติดตามไปช่วยท่านสร้าง แต่แม่อินทร์ก็ยังไม่ได้บวชเป็นชี คืนวันหนึ่งแม่อินทร์ได้นิมิตไปเห็นสถานที่แห่งหนึ่ง บริเวณนั้นล้อมรอบด้วยภูเขาเป็นสถานที่วิเวกรู้สึกอิ่มเอมต่อสถานที่ในนิมิต ยิ่งกว่านั้นยังเห็นพระธุดงค์ปักกลดสีขาวดารดาษเต็มไปหมดในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว จึงได้นำเอานิมิตดังกล่าวไปเล่าให้ท่านพ่อลีฟัง ท่านพ่อลีก็เลยพาแม่อินทร์ไปร่วมในการทอดผ้าป่าที่วัดนิคมสามัคคีชัย บ่อ ๖ ณ ที่นั้น ท่านพ่อลีได้พบกับมหาวิทูรย์ บุญเฉลียว จึงออกปากถามว่าบริเวณแถวนี้มีสถานที่ใดบ้างที่เป็นวิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา มหาวิทูรย์ก็ได้พาท่านพ่อลีและแม่อินทร์มาที่บริเวณวัดเวฬุวันปัจจุบันนี้ ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นป่าดงดิบ แม่อินทร์พอเห็นพื้นที่ดังกล่าวนี้ ก็รู้สึกทันทีว่าตรงกับที่ได้นิมิตไว้ จึงได้เรียนให้ท่านพ่อลีทราบ ทั้งท่านพ่อลีและแม่อินทร์ได้มานั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่นี่เป็นเวลา ๓ วัน แล้วท่านพ่อลีก็กลับวัดอโศการาม ส่วนแม่อินทร์ไม่กลับเพราะท่านพ่อลีได้กล่าวว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นเรื่องของแม่อินทร์แล้ว แม่อินทร์มีจิตปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างวัด จึงไม่กลับไปกับท่านพ่อลีและงานสร้างวัดของแม่อินทร์ก็เริ่มต้นตั้งแต่บัดนั้น โดยตัวของแม่อินทร์แต่เพียงผู้เดียวแท้ๆ โดยกลับไปนอนพักข้างล่างเขาบริเวณทางขึ้นมาสู่วัดนี้ในเวลากลางคืนและกลับมาทำการถากถางพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามที่ได้ตั้งใจไว้ในเวลากลางวัน ซึ่งขณะนั้นบริเวณนี้เป็นป่าดงดิบ มีเสือด้วยแต่แม่อินทร์สามารถที่จะมาปฏิบัติธรรมได้โดยไม่มีภัยอันตรายใดๆมารังควานเลย

ระหว่างนั้นได้มีหลานสาวคนหนึ่งของแม่อินทร์ชื่อ บำรุง อายุตอนนั้นประมาณ ๑๓-๑๔ ปี ได้ฝันเห็นแม่อินทร์ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้ากำลังสร้างวิมานเป็นทองทั้งหลังแต่ยังไม่เสร็จ เมื่อตื่นเช้ามาก็มีจิตคิดอยากจะมาอยู่กับป้าอย่างที่สุด ได้ไปขอพ่อแม่ก็ไม่ได้รับอนุญาต จึงนำเอากล้วยน้ำว้าไปขายได้กำไร ๘ บาท พอเป็นโสหุ้ย พาตัวเองมาพบแม่อินทร์ได้ และเลยมาอยู่ช่วยแม่อินทร์สร้างวัด ในระหว่างนี้นายแซ ผู้เป็นสามีของแม่อินทร์ซึ่งยังทำการค้าขายอยู่เป็นปกติ ได้เป็นผู้ส่งอาหารให้แม่อินทร์และบำรุง แล้วก็เลยได้บวชเป็นพระและชีหมด และทราบว่าทุกคนได้บำเพ็ญจนได้สมาธิหมด ตลอดเวลาที่แม่อินทร์ได้แยกจากท่านพ่อลี มาอยู่ที่วัดเวฬุวันนี้ ท่านพ่อลีได้มาเยี่ยมอยู่เสมอ ปีละ สอง-สามครั้งมิได้ขาด

จะเห็นได้ว่า ความศรัทธาสามารถทำให้บุคคลทั้งสามค่อยๆ ช่วยเหลือกันถากถางป่าดงดิบ จะทำให้เป็นวัดให้ได้ อยู่มาวันหนึ่งได้มีนายทหารผู้หนึ่ง ซึ่งตอนนั้นมียศร้อยเอก ชื่อ ร้อยเอกธรรมจักร สังกัดศูนย์การทหารราบลพบุรี ได้พาทหารมาฝึกใกล้ๆ กับบริเวณที่แม่ชีลูกอินทร์ถากถางพื้นที่อยู่ ได้ถามแม่ชีลูกอินทร์ว่า จะถากถางทำอะไร แม่ชีลูกอินทร์ก็ตอบว่า จะสร้างวัด ผู้กองธรรมจักรก็บอกว่าจะสำเร็จได้อย่างไรและก็กลับไป ต่อมาอีกประมาณหนึ่งอาทิตย์ ผู้กองธรรมจักรก็กลับมาอีก ทีนี้เอาทหารและนายสิบมาด้วย ประมาณ ๔๐-๕๐ นาย ได้แบ่งกำลังออกถากถางพื้นที่ ซึ่งแม่ชีลูกอินทร์ได้กำหนดว่าตรงไหนจะสร้างวิหาร ตรงไหนจะสร้างโรงครัว ที่พักและตรงไหนจะสร้างกุฏิ มิใช่แค่เท่านี้ ผู้กองธรรมจักรยังได้เอาข้าวสารบรรทุกเกวียนมาให้ เวลาน้ำหมดก็เอาน้ำมาให้โดยใช้เกวียนบรรทุกขึ้นมาเพราะสมัยนั้นรถขึ้นไปไม่ได้

เมื่อแม่ชีลูกอินทร์ได้สร้างวิหารเกือบเสร็จ ก็ได้นิมิตไปว่า เมื่อมีวิหารก็ควรจะต้องมีพระพุทธรูป ก็คิดว่าจะได้พระพุทธรูปจากที่ไหนมา ปรากฏว่าหลังจากที่นิมิตและเกิดความคิดอยากได้พระพุทธรูปมาประดิษฐานได้เพียง ๓ วัน ก็มีแม่บุทันซึ่งมีบ้านอยู่บริเวณบ่อแปด เอาข่าวเรื่องพระพุทธรูปไปบอกสามี สามีแม่บุญทันไปได้เศียรพระมาจากถ้ำพระบาท มีแต่เศียรเก็บไว้ในบ้าน เด็กๆก็กลัวมีคนมาขอซื้อแต่ก็ไม่ได้ขาย ต่อมาไม่กี่วันทั้งแม่บุญทันและสามีก็ได้นำเอาเศียรพระพุทธรูปมาถวายไว้ให้ เมื่อแม่ชีลูกอินทร์ได้รับเศียรพระมาแล้วก็ไม่ทราบว่าจะต่อให้เป็นพระปางอะไรดี จึงได้ไปขอความเห็นจากท่านพ่อลี แต่ท่านพ่อลีกลับบอกว่า ให้แม่ชีลูกอินทร์ใช้ปัญญาเอาเอง แม่ชีลูกอินทร์ได้สร้างต่อให้เป็นพระปางไสยาสน์และเนื่องจากได้มาตามที่ได้นึกไว้ จึงเรียกพระทั้งองค์นี้ว่า “ หลวงพ่อสมนึก ” ขณะนี้ยังคงอยู่ในวิหารน้อยนั้น

ผู้ดำเนินสร้างวัดต่อ

ในระหว่างที่ แม่ชีลูกอินทร์กำลังดำเนินการสร้างวัดอยู่นี้ แม่ชีปิ่นมณีน้อย ซึ่งมีครอบครัวแล้วแต่ไม่มีบุตรเช่นเดียวกับแม่ชีลูกอินทร์มีอาชีพค้าขายอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ได้เข้าไปบวชเป็นแม่ชีที่วัดอโศการาม ตั้งใจว่าจะบวชเพียงสามเดือนเท่านั้นเมื่อครบสามเดือนก็ได้ไปขอลาสิกขากับท่านพ่อลี พอดีท่านพ่อลีมาทอดผ้าป่าที่วัดนิคมสามัคคีชัย บ่อหก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ แม่ชีปิ่นจึงได้พบกับแม่ชีลูกอินทร์และทราบว่าแม่ชีลูกอินทร์ กำลังสร้างวัด แม่ชีปิ่นเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะช่วย แม่ชีลูกอินทร์สร้างวัด ความตั้งใจเดิมที่จะขอลาสิกขาบทก็เป็นอันลืมไปสิ้น

อย่างไรก็ตามจิตใจคนนั้นย่อมเปลี่ยนไปมาตามกาลเวลา เช่นเดียวกับแม่ชีปิ่น เมื่อกลับไปถึงวัดอโศการาม ความต้องการที่จะลาสิกขาบทก็คงกลับมาสู่ความนึกคิดอีกเมื่อไปขออนุญาตท่านพ่อลี ท่านพ่อลีก็ถามว่าจะไปค้าขายอะไรอีก ขายไปได้มาแล้วก็เอามากิน กินเข้าไปแล้วก็ถ่ายออกมันได้อะไรขึ้นมา แต่ความที่อยากจะลาสิกขาบทของแม่ชีปิ่นนั้นมีมากกว่าจึงไม่ได้เชื่อท่านพ่อลีมากนัก ได้กลับไปบ้านเพื่อไปเอาเสื้อผ้าเตรียมออกจากภาวะความเป็นแม่ชี แต่ก็ต้องมีเหตุเป็นไป คือสามีไม่อยู่บ้านและบ้านก็ใส่กุญแจไว้ เมื่อเข้าบ้านไม่ได้ก็เอาเสื้อผ้าไม่ได้ จึงไปขอนอนพักคอยอยู่ที่บ้านญาติหนึ่งคืน ในคืนนี้เองที่แม่ชีปิ่นได้นั่งภาวนาตั้งแต่เวลาตีหนึ่งถึงเวลาตีห้าและก็ได้สมาธิในคืนนั้นเอง แม่ชีปิ่นเล่าว่าขณะที่จิตรวมเป็นสมาธินั้นรู้สึกว่าตัวเองลอยอยู่สูงๆ การปวดเจ็บบางแห่งที่เคยเป็นก็หายไปมีความปิติอย่างบอกไม่ถูก วันนั้นทั้งวันรู้สึกอิ่มทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะไม่ลาสิกขาบท เมื่อเดินกลับวัดอโศการามพบกับสามีกลางทาง สามีถามว่าจะไม่สึกหรือ แม่ชีปิ่นก็ตอบว่า ไม่สึกแล้ว ถูกสามีว่าหลายๆอย่าง แต่ได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะไม่สึก จะไปช่วยแม่ชีลูกอินทร์สร้างวัด ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาแม่ชีปิ่นก็มาอยู่วัดเขาจีนแล

แม่ชีปิ่นได้มาอยู่กับแม่ชีลูกอินทร์เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๑ และในเวลาใกล้เคียงกันนี้เอง แม่ชีลูกอินทร์ก็ล้มป่วยอาจจะเป็นเพราะร่างกายขาดอาหาร เพราะแม่ชีลูกอินทร์จะปฏิบัติสมาธิไม่รับประทานอาหารเป็นเวลาสามวันติดต่อกันเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อรำลึกพระคุณท่านพ่อลีและบิดามารดา ครั้งสุดท้ายของชีวิตซึ่งแม่ชีลูกอินทร์ทราบดี ทั้งนี้จะทราบได้จากคำบอกเล่าของแม่ชีปิ่นว่า แม่ชีลูกอินทร์ทราบว่าตนจะต้องจากไปอย่างแน่นอน ได้สั่งให้อาราธนาพระสงฆ์ ๕ รูปมาฉัน พร้อมกับเป็นการทำบุญฉลองอายุครบ ๕๐ ปีด้วยและเพียงไม่กี่วันต่อมาแม่ชีลูกอินทร์ก็จากไป ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ส่วนพระภิกษุแช ศิริมงคล ก็ถึงแก่มรณภาพ พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื่องจากวัดเวฬุวัน(เขาจีนแล)นี้ตั้งอยู่ไกลเมือง ทุรกันดาร ถนนหนทางไปมาไม่สะดวก เหมือนอย่างปัจจุบันที่เห็น พระภิกษุจะมาจำพรรษาก็หายากถึงมาก็อยู่ไม่นาน สำนักสงฆ์แห่งนี้จึงเจริญรุ่งเรืองช้า แต่อย่างไรก็ตามแม่ชีปิ่น มณีน้อย ก็ไม่ท้อถอยท่านยังตั้งมั่นบำเพ็ญกุศลอยู่ในสำนักสงฆ์เขาจีนแลและร่วมสร้างสำนักสงฆ์แห่งนี้ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาอื่นๆ จนสร้างวัดเสร็จสมบูรณ์เป็นวัดเวฬุวัน ท่านเป็นแม่ชีอาวุโสและเป็นผู้นำแม่ชีในวัดบำเพ็ญกุศล ออกแรงกาย แรงใจสร้างจนถึงวัยชราและท่านก็เสียชีวิตในวัดเวฬุวันนี้เอง

ผู้สนับสนุนคนที่ ๓

คุณนายปุไร ณ บางช้าง ภรรยานายแพทย์ เอิบ ณ บางช้าง อธิบดีกรมอนามัยในยุคนั้น ท่านผู้นี้เป็นนักบุญชื่อชมยินดีในการสร้างวัด สร้างกุศลบำรุงพระพุทธศาสนาและเป็นสานุศิษย์ของพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์อีกคนหนึ่ง
ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ คุณนายปุไร ณ บางช้าง ได้มาทอดกฐินสามัคคีร่วมกับชาวจังหวัดสมุทรปราการ ได้มาพบเห็นวัดนี้เป็นที่เหมาะจะเป็นวัดที่ดี สำหรับปฏิบัติธรรมภาวนา ควรสนับสนุนพอดีได้พบแม่ชีปิ่นและได้พูดคุยกันก็มีความชื่นชอบในอุปนิสัยใจคอกันเลยรักใคร่ชอบพอกันดุจจะเป็นพี่น้อง คุณนายปุไร ณ บางช้าง จึงปวารณาตัว ตัดสินใจสนับสนุนเต็มที่

เลขานุการพัฒนาวัดและวางแผนสร้างพระใหญ่

วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๖ นายศิลา เนตรวงศ์ ข้าราชการบำนาญ สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ตำแหน่งผู้ช่วยสาธารณสุขจังหวัด โดยนำกฐินของสำนักงานสาธารณสุขรวมทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเป็นเจ้าภาพ เดินทางเข้ามาทอดกฐิน ณ สำนักสงฆ์เขาจีนแล โดยนายแพทย์ ดร.เอิบ ณ บางช้าง มาเป็นประธานในการทอดกฐิน เมื่อทอดกฐินแล้วก็ปรึกษากันในเรื่องจะสร้างจะพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น นายแพทย์เอิบ จึงรับเป็นประธานและได้ตั้งนายศิลา เนตรวงศ์ เป็นเลขานุการพร้อมกับได้ตั้งนายศิลา เนตรวงศ์ เป็นเลขานุการพัฒนาวัดและวางแผนสร้างพระใหญ่คือ พระพุทธธรรมรังสีมุนีนาถศาสดาและต่อมาอีก ๒-๓ ปี พระอาจารย์สมุทร อธิปัญฺโญ ก็ตั้งนายศิลา เนตรวงศ์เป็นเลขานุการพร้อมกับเป็นไวยาวัจกรของวัด นายศิลา เนตรวงศ์ได้คลุกคลีอยู่กับวัดเวฬุวันตลอดมาจนสร้างวัดเสร็จเรียบร้อยและได้มาวางมือเมื่ออายุมากขึ้น

เขาจีนแล

เขาจีนแล

หลังจากที่ชมพื้นที่วัดและถ่ายรูปกันจนเพียงพอแล้ว กลุ่มของผมก็เดินทางออกจากวัดเพื่อถ่ายรูปเขาจีนแล ซึ่งต้อออกจากวัดไปอีกสักระยะ ขุนเขาจีนแลจะมีลักษณะตั้งตระหง่าน โดยที่วัดเวฬุวันจะอยู่กลางหุบเขา มีเขาจีนแลอยู่ฝั่งตะวันออกของวัด

และกลุ่มของเราก็เดินทางไปยังวัดตามโปรแกรมต่อไปซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน นั่นคือวัดสุวรรณคีรีปิฎกหรือวัดเขาตะกร้าทอง ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายตามโปรแกรมตามรอยตำนานขุนเขาลพบุรี ตอนเจ้ากงจีน  แล้วพบกันในบทความต่อไปครับ… สวัสดี…

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด