Faiththaistory.com

กราบหลวงพ่อก้ามปู พระพุทธรูปเก่าแก่หลายร้อยปี อ.ท่าวุ้ง ลพบุรี


https://youtu.be/mRQQcCr1APQ

สวัสดีครับ กับการเดินทางท่องเที่ยววัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วไปของผม วันนี้ผมเดินทางในวันหยุดในบรรยากาศแสนร้อนระอุในช่วงเดือนเมษายน ต้องบอกว่าร้อนมากจริงๆ มีลใพัดแต่ก็เป็นลมที่หอบเอาความร้อนซึ่งน่าจะมีอุณหภูมิแตะถึงระดับ 40 องศาเซลเซียส

ผมวางแผนการเดินทางไปยังอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี การเดินทางจะผ่านอำเภอท่าวุ้ง จึงได้แวะกราบสักการะหลวงพ่อก้ามปู ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่เก่าแก่มาก สันนิษฐานว่ามีอายุในสมัยลพบุรีเลยทีเดียว จากข้อมูลพบว่าหลวงพ่อก้ามปูแต่เดิมนั้นประดิษฐานที่วัดประดู่ (ร้าง) ซึ่งเป็นวัดร้างที่อยู่ใกล้เคียงกับวิหารตรงนี้ ซึ่งผมก็ได้ไปเที่ยวชมมาแล้ว ลองอ่านในบทความวัดประดู่ (ร้าง) ได้นะครับ

วิหารหลวงพ่อก้ามปู จะอยู่ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ใกล้กับตลาดท่าวุ้ง จึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวตลาดท่าวุ้งและชาวอำเภอท่าวุ้งเป็นอย่างมาก และผมก็เช่นกัน ก่อนเดินทางจึงขอแวะเข้าไปกราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลกันเสียก่อน

ที่ว่าการอำเภอท่าวุ้ง

จุดจอดรถจะอยู่ที่หน้าป้ายที่ว่าการอำเภอท่าวุ้ง สามารถจอดรถได้ยาวตลอดแนวเลยครับ แต่ก็ระวังการสัญจรให้ดี เพราะมีรถสวนผ่านมากมาย

วิหารหลวงพ่อก้ามปู

จากนั้นผมก็เดินมายังวิหาร ซึ่งเป็นความร่วมมือในการก่อสร้างของชุมชน ซึ่งมีสภาพสวยงามและถาวรดีมากครับ… เมื่อเข้าไปยังวิหาร ท่านสามารถจุดธูปเทียนบูชาขอพรกันได้… เท่าที่สังเกตุจะมีชาวบ้านแวะเวียนกันมากราบไหว้อยู่เรื่อยๆครับ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่มากองค์หนึ่งของอำเภอท่าวุ้ง

หลวงพ่อก้ามปู

ผมได้ทำการกราบไหว้ขอพร และก็เดินถ่ายรูปกลับมาเป็นที่ระลึก และลองค้นหาข้อมูลมาเขียนประกอบบทความ ก็พบว่ามีผู้ที่เขียนเรื่องราวไว้แล้ว จึงขอหยิบยกมาเขียนไว้ในบล็อกแห่งนี้ด้วยครับ

ประวัติหลวงพ่อก้ามปู พอสังเขป

หลวงพ่อก้ามปู หรือ หลวงพ่อพระพุทธสีหนาท ประดิษฐานที่วิหาร หน้าที่ว่าการอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ริมทางหลวงถนนหมายเลข ๓๑๑ หรือถนนสายลพบุรี – สิงห์บุรีสำหรับวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อก้ามปู หรือหลวงพ่อพุทธสีหนาท สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๒๕ ใช้เงินบริจาคจากประชาชน จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท ในช่วงที่นายวัฒนะ เก็จมะยูร ดำรงตำแหน่งนายอำเภอท่าวุ้ง

หลวงพ่อก้ามปู หรือ หลวงพ่อพระพุทธสีหนาท นี้ นำมาจากอุโบสถวัดประดู่(ร้าง) บ้านคลองตามูล ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำลพบุรี หมู่ที่ ๑ ตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ซึ่งอยู่ติดกับตลาดคลองมะขามเทศเดี๋ยวนี้เรียกว่าตลาดท่าวุ้ง ห่างกันเพียงชั่วคลองมะขามเทศกั้นขวาง

ในอุโบสถวัดประดู่(ร้าง) เมื่อประมาณ ๗๘ ปี(ประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๘)ยุคนั้น มีพระพุทธรูปหินทรายตั้งเรียงรายอู่บนแท่นพระ ๓ องค์ สององค์ในจำนวนนั้นไม่มีเศียร อีกองค์มีครบแต่มีรอยชำรุดแหว่งเว้า พอที่จะทำการซ่อมแซมให้สมบูรณ์ได้ นายถวิล บัณฑิตกุล(ขุนปรีชาชนบาล)นายอำเภอท่าวุ้งขณะนั้น กับนายเที่ยง ด้วงทวีผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๕ (ปัจจุบันหมู่ที่ ๑) ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ได้ชักชวนชาวตลาดอำเภอท่าวุ้งให้ย้ายนำมาวางไว้ใต้ต้นก้ามปู หลังที่ว่าการอำเภอท่าวุ้งหลังเก่า ซึ่งหันหน้าลงแม่น้ำลพบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ แรกๆ เรียกหลวงพ่อว่า หลวงพ่อวัดประดู่ บ้างเรียก หลวงพ่อก้ามปู บ้าง เพราะอยู่ใต้ต้นก้ามปู(หรือต้นฉำฉา จามจุรี ก็เรียก) ต่อมาก็เรียกกันเพียงชื่อเดียวคือ หลวงพ่อก้ามปู

สมัยที่หลวงสีหบุรานุกิจ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอท่าวุ้ง (ระหว่าง ๑ มกราคม ๒๔๙๐-๑ ธันวาคม ๒๔๙๑) ได้เชิญชาวตลาดท่าวุ้งประมาณ ๒๐ คน ประชุมตั้งชื่อใหม่ให้กับหลวงพ่อ ในที่สุดมหาโน้ม สำราญถิ่น อดีตผู้จัดการร้านสหกรณ์ท่าวุ้งจำกัดสินใช้ เสนอชื่อหลวงพ่อว่า หลวงพ่อพระพุทธสีหนาท มาแต่ปลายปี ๒๔๙๐ จนกระทั่งบัดนี้ ชื่อหลวงพ่อก้ามปู ก็ยังมีผู้คนนิยมเรียกขานกันอยู่

ศาลาที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพระพุทธสีหนาท สร้างกันมาหลายครั้ง แต่ละครั้งย้ายกันไปตามความเหมาะสม เช่น ทางด้านตะวันออกของที่ว่าการอำเภอบ้าง บางครั้งย้ายห่างจากที่เดิมไม่นานนัก แต่วนๆ อยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๕ ชาวตลาดท่าวุ้ง จึงรวมกำลังทุนทรัพย์ สร้างศาลาที่ประดิษฐานให้หลวงพ่อ โดยมี นายวัฒนะ เก็จมะยูร นายอำเภอท่าวุ้ง ครั้งนั้นเป็นประธาน ทั้งได้รับได้รับความเมตตาจาก พระครูวิธานนวกิจ อดีตรองเจ้าคณะอำเภอท่าวุ้ง เจ้าอาวาสวัดวิหารขาว ตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้างให้ สิ้นเงินดังที่กล่าวแล้วข้างต้นจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท

หลวงพ่อพระพุทธสีหนาท เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางนาคปรก หรือที่เรียกว่า พระนาคปรก สมัยลพบุรี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ (พ.ศ. ๑๔๐๐-๑๖๐๐) โดยประมาณ ในช่วงเวลานั้น ไทยยังไม่ได้ตั้งกรุงสุโขทัย เพราะเพิ่งมาตั้งราว พ.ศ. ๑๗๘๐

พระนาคปรก หรือ หลวงพ่อพุทธสีหนาท องค์นี้ พุทธลักษณะที่เป็นของเก่าพอสังเกต และพอสรุปได้ดังนี้

จอมพระเศียรเป็นรูปดอกบัวตูม ขนดของนาคสอบลงเบื้องล่าง ขอบจีวรเว้าลงมาที่บั้นเอว

ตามลักษณะนี้ ท่านศาสตราจารย์ พลตรีหม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล เขียนไว้ในหนังสือ ศิลปะในประเทศไทย จัดว่าอยู่ในพุทธศิลปะสมัยลพบุรี

ชาวตลาดท่าวุ้ง และชาวอำเภอท่าวุ้งนับถือว่า หลวงพ่อเป็นพระแห่งมิ่งขวัญชองประชาชน มีผู้เคารพบูชาเสมอ บรรดาผู้ผ่านไปมา ส่วนมากยกมือไหว้หลวงพ่อ เพื่อขอความสุขสวัสดีในการเดินทาง

หมายเหตุ ทางหลวงหมายเลข ๓๑๑ ที่เรียกกันว่า ถนนสายลพบุรี – สิงห์บุรี มีจุดเริ่มต้นจากหลังอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลางวงเวียนเทพสตรี หน้าศาลากลางจังหวัดลพบุรี ทับกับถนนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผ่านตลาดท่าโพธิ์ อำเภอเมืองลพบุรี ผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอท่าวุ้ง เข้าเขตอำเภอเมืองสิงห์บุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สะพานบางระจัน อ้อมไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าเขตอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ไปสิ้นสุดที่เขื่อนเจ้าพระยา

ที่มาของข้อมูล : ถิ่นที่อยู่อำเภอท่าวุ้ง โดย ศรี อิ่มสุข และ ผศ.ศิริเพ็ญ มากบุญ, โรงพิมพ์กรุงไทยการพิมพ์ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๖, หน้า ๓๔-๓๖

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com

Exit mobile version