Faiththaistory.com

ทำไมมีต้นพุทรามากมาย ในเขตวังหลวงโบราณ อยุธยา ?

YouTube Poster

https://youtu.be/1YjljPrBEsY

ทำไมมีต้นพุทราจำนวนมากมายในเขตพระราชวังหลวง อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวหลายคนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นความเข้าใจผิดของหลายคนด้วยเช่นกัน

ผมได้ลองค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ คือสำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้กล่าวว่า ต้นพุทราในเขตพระราชวังหลวงอยุธยา เริ่มปลูกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ใช้เป็นกุศโลบายให้ประชาชนนำไปรับประทานได้ และช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลโบราณสถาน ซึ่งไปสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจอายุต้นพุทราเมื่อปี พ.ศ.2562 ว่าต้นพุทราที่เก่าแก่ที่สุด อยู่ในเขตพระราชวังหลวงอยุธยา มีอายุราว 140 ปี ซึ่งจะตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเอง และต้นพุทราในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.2562 อีกด้วย

ต้นพุทราในพระราชวังโบราณ อยุธยา

และอีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ ที่บอกกล่าวเล่าเรื่องไว้โดย ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ซึ่งอาจารย์ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ได้เป็นที่ปรึกษาและอาจารย์พิเศษในโครงการอบรมมัคคุเทศก์ ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มานานหลายสิบปี โดยให้คำบรรยายและอบรมในระหว่างการท่องเที่ยวนำชมในเขตโบราณสถาน มักจะเกิดคำถามบ่อยครั้งเมื่อเดินเข้าในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังโบราณ พระนครศรีอยุธยา ว่าทำไมมีต้นพุทราจำนวนมากมายในเขตนี้? 

วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา

และคำตอบจากมัคคุเทศก์ที่ได้ยินคือ กล่าวว่า ทัพพม่าได้ขนเสบียงเป็นพุทรามาเมื่อครั้งสงครามตีกรุงศรีอยุธยาจนแตก จึงได้ทิ้งเมล็ดพุทราไว้จำนวนมาก จนเกิดต้นพุทรามากมายในปัจจุบัน ซึ่งคำตอบดังกล่าวเป็นที่เฮฮา สนุกสนานของผู้เดินทางท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ตรงตามประวัติศาสตร์การบันทึก

ต้นพุทราในเขตพระราชวังโบราณ อยุธยา

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เล่าต่อว่า ได้บังเอิญไปค้นหาข้อมูลในวารสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และได้ไปพบกับคอลัมน์และภาพถ่าย ที่เขียนและถ่ายภาพโดยคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนแห่งสยามรัฐ(ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538) ซึ่งน่าจะเป็นฉบับในราวปี พ.ศ. 2505 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องต้นพุทราในเขตพระราชวังหลวงพระนครศรีอยุธยา

คุณรงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538

ในวารสาร คุณรงค์ได้เขียนว่า ต้นพุทราในพระราชวังหลวงถูกปลูกขึ้นมาก่อนปี พ.ศ.2500 นานหลายปี เพราะกรมศิลปากรมีบุคลากรไม่เพียงพอและต้องการหาวิธีในการควบคุมหญ้าที่รกในเขตโบราณสถาน จึงได้ทำการปลูกต้นพุทรา เมื่อต้นพุทราเติบโตขึ้นจะทำให้ต้นหญ้าขึ้นไม่ได้ และในช่วงเวลานั้น ทางกรมศิลปากรได้หารายได้จากลูกพุทราเพื่อนำมาใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคลากรดูแลโบราณสถานอีกด้วย เมื่อนำไปขายก็เกิดการแปรรูปพุทราเป็นขนมหวานมากมาย เช่น พุทราเชื่อม พุทรากวน จนกลายเป็นอาหารของฝากในอยุธยาจนถึงปัจจุบันนี้

ลูกพุทราในวังหลวง อยุธยา

ข้อมูลการสำรวจต้นพุทธราเมื่อปี พ.ศ.2562 โดยสำนักงานเกษตรพระนครศรีอยุธยา กรมส่งเสริมการเกษตร พบว่ามีต้นพุทราทั้งหมด 872 ต้น โดยในพระราชวังโบราณมี 513 ต้น ในวัดพระศรีสรรเพชญ์มี 52 ต้น ลานวิหารพระมงคลบพิตรมี 20 ต้น วัดพระรามมี 76 ต้น วัดมหาธาตุมี 12 ต้น วัดราชบูรณะมี 74 ต้น วัดวังชัย, วัดมหาสมัน, วัดพระงามมีรวม 27 ต้น วัดวรโพธิ์ วัดโลกยสุธารามมีรวม 65 ต้น วัดขุนเมืองใจมี 14 ต้น และสถานที่อื่นๆมี 19 ต้น ต้นที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในพระราชวังโบราณ อายุ 140 ปี และต้นที่อายุน้อยที่สุดก็อยู่ในเขตพระราชวังโบราณมีอายุ 26 ปี

ทั้งหมดนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับต้นพุทราที่พบมากในเขตของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป 

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณการติดตามแล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ – แอดมินลุงตั้ม Faiththaistory.com

แอดมินลุงตั้ม(ผู้เขียน) ยืนงงในดงพุทรา พระราชวังโบราณ อยุธยา

ช่องทางการติดตาม

Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com

Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน 

YouTube Channel FaithThaiStory

Instagram

TikTok

 

Exit mobile version