สวัสดีกันอีกครั้ง ในภารกิจการเดินทางท่องเที่ยวัดตามสไตล์บ้านๆของผม ช่วงที่ผ่านมาเป็นวันหยุดยาวหลายวันผมจึงได้โอกาสเดินทางไกลขึ้นเล็กน้อย โดยมีเป้าหมายที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งก็มีเป้าหมายหลายๆวัดและก็มีวัดที่น่าสนใจมากมาย
วัดที่ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปชมในครั้งนี้ จะมีชื่อที่ฟังแล้วก็แปลกดี เพราะชื่อว่า “วัดจรเข้ตาย” ตั้งอยู่ที่บ้านจรเข้ตาย ต.บางคา อ.ราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อได้ยินชื่อวัดแล้ว ผมก็ต้องคิดไปว่าต้องมีเรื่องราวตำนานเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้เป็นแน่ และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะมีเรื่องเล่าตำนานเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2400
ตำนานจระเข้ยักษ์
หมู่บ้านนี้ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 ตามประวัติมีผู้เล่าว่า นายจ้อย นางยัง เป็นผู้เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ก่อนผู้อื่นได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นในบริเวณแถบนี้ ต่อมามีครอบครัวนายกับและนายหลุ่ม ได้อพยพเข้ามาหากินอยู่ด้วยโดยตั้งบ้านเรือนใกล้กัน
สำหรับครอบครัวของนายกับได้มีผู้อาศัยอยู่ด้วยเป็นคนลาวชื่อนายสาม อยู่ได้ไม่นานนักนายสามออกไปเลี้ยงควายแล้วหายไป ชาวบ้านได้ออกติดตามไปพบว่าถูกจระเข้ลากไปกินอยู่ที่หนองนํ้าแห่งหนึ่ง ต่อมาพวกวัว ควาย และสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านทั้งสามก็ถูกจระเข้ลักไปกินอีก บางครั้งก็กัดวัวควายที่ลงอยู่ในคลองจนเป็นที่เดือดร้อนกันไปทั่ว เมื่อทนไม่ไหวจึงได้ติดต่อหมอจระเข้มาทำการปราบ โดยทำการตั้งศาลเพียงตาตรงปากคลองที่แยกจากคลองท่าลาด เพราะเชื่อว่าเป็นถํ้าจรเข้
เล่ากันว่าสามารถปราบจรเข้ได้มากมาย แต่มีอยู่ตัวหนึ่งซึ่งใหญ่และเชื่อว่าคงเป็น หัวหน้าได้พยายามสู้หมอ แต่สู้ไม่ได้จึงหนีไปตามลำคลอง ในที่สุดก็ไปติดตรงส่วนที่แคบที่สุดของคลอง จึงได้ถูกชาวบ้านที่ติดตามไป ฆ่าตาย แล้วนำมารวมกันที่ศาลเพียงตา ในการนี้มีชาวบ้านต่างถิ่นเดินทางมาดูกันมาก เมื่อกลับไปก็ไปบอกต่อๆ กันว่าไปบ้านจรเข้ตายมา จึงได้พากันเรียก หมู่บ้านนี้ว่า “บ้านจรเข้ตาย”
เมื่อผมเดินทางมาถึงวัดจรเข้ตาย ก็ขับรถตรงเข้ามาจอดติดริมคลอง ซึ่งจะมีศาลเพียงตาและศาลาท่าน้ำอยู่… บรรยากาศในวัดค่อนข้างเงียบ พื้นที่ค่อนข้างโล่ง อากาศร้อนพอสมควรเพราะผมเดินทางในช่วงเดือนเมษายน แต่ก็พอมีร่มเงาต้นไว้บริเวณริมคลองนี่แหละครับ ซึ่งผมก็มานั่งพักฟังเสียงนกร้อง ก็รู้สึกสงบดี
ตรงศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่จรเข้ทอง จะมีหุ่นจระเข้ตั้งอยู่ดูน่ากลัวดีครับ และบ่อข้างๆ ก็มีหุ่นจระเข้ เล่นเอาผมตกใจพอสมควรเพราะเดินเพลินๆ แล้วบังเอิญเห็นแล้วใจหายแว๊บ
จุดต่อไปที่ผมเดินทางไปกราบไหว้บูชาคือวิหารอดีตเจ้าอาวาสวัดจรเข้ตาย ซึ่งสร้างแล้วเสร็จได้ไม่นาน
หลังจากนั้นผมก็เดินลงจากวิหาร มองหันไปมา เพราะพื้นที่โล่งซะเป็นส่วนใหญ่ ก็มองเห็นพระอุโบสถ และรูปปั้นฤาษีในนิทานเรื่องพระรถ-เมรี ผมจึงเดินไปยังสถานที่นั้นทันที
พระอุโบสถเป็นพระอุโบสถหลังใหม่ที่ได้สร้างขึ้นแทหลังเดิมที่ทรุดโทรมและถูกรื้อออกไป
ประวัติวัดจรเข้ตาย พอสังเขป
วัดจรเข้ตาย เป็นวัดที่สังกัดมหานิกาย อยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ภาค ๑๒ ตั้งอยู่ที่บ้านจรเข้ตาย หมู่ที่ ๖ ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศเหนือของวัดจรดคลองจรเข้ตาย และทิศตะวันตกก็จรดคลองท่าลาด
วัดนี้มีประวัติตามที่สอบถามจากผู้รู้และค้นคว้าจากหลักฐานพอสรุปได้ว่า สร้างขึ้นในปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๘ โดยมีนายเปียและนายจิ๋ว สามีภรรยาได้ ริเริ่มจัดตั้งเป็นวัดขึ้นด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว ร่วมกับราษฎรในละแวกท้องถิ่นผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคทรัพย์ จัดสร้างเป็นวัดขึ้น โดยมีพระอาจารย์กล้องเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ดำรงอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระปลัดทองจึงสืบตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อ
ในช่วงที่ปลัดทองเป็นเจ้าอาวาสนี้ได้สร้างเสนาสนะอันนำความเจริญมาสู่วัดเป็นอันมาก โดยสร้างอุโบสถ (ไม่ปรากฏหลักฐานปีที่สร้างและปีที่แล้วเสร็จ แต่พบหลักฐานบันทึกจากสมุดตำราวัดต่างๆ ที่เจ้าอาวาสวัดบางคา ซึ่งเป็นฉบับคัดลอกของเก่าที่บันทึกไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ความว่า พระอุโบสถวัดจรเข้ตายได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘) สร้างกุฎิ ศาลาการเปรียญ ศาลาทางนํ้า หอสวดมนต์และ เสนาสนะอื่นๆ ในแต่ละปีมีพระภิกษุสามเณร จำพรรษาอยู่มาก ต่อมาพระสมุห์เป๋าเป็นเจ้าอาวาสก็ได้จัดการปฏิสังขรณ์ เป็นลำดับมามิได้ว่างเว้น
ครั้นถึงช่วงพระครูไฝ บัณฑิโต เป็นเจ้าอาวาส พระอุโบสถหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมจนไม่สามารถใช้เป็นที่ประกอบสังฆกรรมได้ จึงได้ทุบทำลายลงและ สร้างใหม่ โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๒ และผูกพัทธสีมาเมื่อ ๙-๑๓ สิงหาคม ๒๕๑๑ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๒
รูปปั้นฤาษีและพระรถ เป็นไปตามเรื่องเล่านิทานและตำนานเรื่องพระรถ-เมรี ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออำเภอราชสาส์นในปัจจุบันนี้
เรื่องราวที่มาของชื่ออำเภอราชสาส์น ตามตำนานเรื่องพระรถ-เมรี
เหตุที่ใช้ชื่ออำเภอนี้ว่า อำเภอราชสาส์น เนื่องจากหมู่ที่ ๒ ตำบลบางคา ชาวบ้านเรียกกันว่า บ้านราชสาส์น ตามนิยายปรำปราเรื่อง พระรถ-เมรี ตอนพระรถนำราชสาส์นของนางยักษ์แม่เลี้ยง ไปให้นางเมรีลูกสาวนางยักษ์
เมื่อพระรถนำราชสาส์นผ่านมาบริเวณหมู่ที่ ๒ ตำบลบางคา พระรถพบพระฤาษีองค์หนึ่งจำศีลภาวนาอยู่ จึงขอพักอาศัยเพราะเป็นเวลาใกล้คํ่า
เมื่อพระรถหลับสนิท พระฤาษีเห็นกล่องราชสาส์น ก็เอามาอ่านดู เห็นข้อความโดยสรุปว่า เมื่อพระรถถึงเช้าให้กินเช้า ถึงเย็นให้กินเย็น หมายถึง ให้พวกยักษ์กินพระรถ พระฤาษีเข้าฌาณดูก็รู้ความเป็นมา และเรื่องที่จะเป็นไป ประกอบกับรู้สึกเมตตาสงสารพระรถ
พระฤาษีจึงทำการเปลี่ยนข้อความในราชสาส์น ใหม่ว่า เมื่อพระรถถึงเช้าให้แต่งเช้า ถึงเย็นให้แต่งเย็น หมายความว่า เมื่อพระรถพบนางเมรีเมื่อใด ให้นางเมรีแต่งงานกับพระรถทันที สถานที่ที่พระฤาษีแปลงสาส์นให้กับพระรถนี้ จึงเรียกกันว่า “บ้านราชสาส์น” สืบมาจนถึงทุกวันนี้ และเห็นว่าชื่อราชสาส์นเป็นมงคล เพราะเป็นสถานที่ที่เปลี่ยนสถานการณ์จากร้ายให้กลายเป็นดี จึงใช้คำว่าราชสาส์น เป็นชื่ออำเภอราชสาส์น เพื่อเป็นสิริมงคล มาจนกระทั่งเป็นชื่ออำเภอในปัจจุบัน
หลังจากที่ผมเดินชมบรรยากาศเป็นที่พอใจแล้ว ก็เดินแวะไปนั่งพักใต้ร่มไม้ที่ริ่มตลิ่งคลองท่าลาด ฟังเสียงนกร้องก็ได้บรรยากาศที่สงบดีไม่เบาเลยครับ แม้อากาศจะร้อน แต่มายังสถานที่สงบเช่นนี้ก็ใจเย็นลงมากพอสมควร เพื่อเติมพลังในการกลับไปทำงานในอีกไม่กี่วัน
เรื่องราวของวัดจรเข้ตาย ก็มีเพียงเท่านี้นะครับ ท่านสามารถเดินทางมาชมบรรยากาศและศึกษาเรื่องราวกันได้นะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com