ความเชื่อของคนไทย ตำนาน เรื่องผีเปรต

By | September 11, 2014

ความเชื่อของคนไทย ตำนาน เรื่องผีเปรต

ความเชื่อเรื่องผีเปรตมีอยู่ในสังคมไทยมาแต่โบราณว่ามีอยู่จริง อีกทั้งคำสอนของศาสนาพุทธก็ได้ยืนยันว่าเปรตนั้นมีอยู่จริง ความคุ้นเคยของสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องเปรตนั้นจะได้ยินกันมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ โดยหลายๆคนคงมักได้ยินคำสอนและคำเตือนของพ่อแม่ (บางคนคิดว่าเป็นคำขู่) เช่น พูดไม่ดีกับพ่อแม่ระวังจะเป็น “เปรตปากเท่ารูเข็ม” นะ หรือ ตีพ่อแม่ระวังจะเป็น “เปรตมือเท่าใบลาน” และผมก็คิดมาแต่เด็กว่าคำขู่นี่มันได้ผลจริงๆ เพราะไม่กล้าจะทำผิดเลย

ผมเองก็คิดว่าเป็นกุศโลบายที่ดีของสังคมไทย ที่ใช้สอนและปลูกฝังให้เด็กๆ มีสำนึกที่ดีได้พอสมควร แต่เมื่อเติบโตขึ้นสังคมเปลี่ยนไป ได้รับการศึกษามากยิ่งขึ้น หลายคนก็อาจจะเปลี่ยนความคิดไปว่า เป็นเรื่องความเชื่อที่ไม่มีอยู่จริงเพราะพิสูจน์ได้ยาก หรือพิสูจน์กันไม่ได้เลย

วันนี้ผมได้ลองหาข้อมูลเรื่องเปรตมาสรุปไว้พอสังเขป เนื่องจาก ได้รับชมรายการ “คนอวดผี” ออกอากาศวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ในรายการได้นำเสนอเรื่องราวความอาถรรพ์ของป้อมตำรวจที่ตั้งภายในวัดศาลาครืน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ ในย่านธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยมีเรื่องราววิญาณที่มีผู้คนในละแวกนั้นได้พบเห็น แล้วนำมาเล่าต่อๆกันไป เรื่องราวที่เล่ากันมาเช่น มีคนพบผู้ชายตรงคอสะพานนั่งอยู่บนพื้นแต่เมื่อขี่จักรยานมาถึงก็ไม่พบชายคนนั้นแล้ว และอีกเรื่องราวจากวินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ว่ามีคนเรียกมารับจากวัดศาลาครืน แต่เมื่อมาถึงจุดหมายได้หายตัวไป เป็นต้น

จากเรื่องราวในรายการคนอวดผี คุณริว จิตสัมผัส จะเป็นผู้ที่ดำเนินรายการในช่วงนี้ และได้กล่าวว่า เขาได้เห็นเปรตที่วัดศาลาครืน และผู้ที่ร่วมรายการก็ได้กล่าวว่าคนในละแวกนั้นก็ได้เจอเปรตมาเช่นกัน โดยมีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ คุณประไท กิ่งทองสุข ซึ่งอาศัยในละแวกนี้กว่า 60 ปี เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยเป็นวัยรุ่น ได้มานอนกับหลวงปู่ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น ช่วงเวลาประมาณตี 4 เป็นเวลาที่ตื่นนอน หลวงปู่ได้เรียกให้มาดูช่องไม้แตก ปรากฎว่าได้พบเจอกับเปรตประมาณ 4 ตนยืนค่อมหอระฆังอยู่

ซุ้มประตูวัดศาลาครืน จากรายการคนอวดผี

ซุ้มประตูวัดศาลาครืน จากรายการคนอวดผี

เรื่องผีเปรตพิสูจน์ได้ยากแต่มีบันทึกในพระไตรปิฎก

หลักฐานปรากฎในพุทธพจน์ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 45 เล่ม และในพระไตรปิฎกเล่มที่ 16 (สังยุตตนิกาย นิทานวรรค) มีพระสูตรที่บันทึกเรื่องราวบุพกรรมของเปรตไว้ 21 เรื่อง และในพระไตรปิฎก เล่มที่ 26 (ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา) ได้บันทึกเรื่องราวของบุพกรรมของเปรตต่างๆเอาไว้ถึง 51 เรื่อง  นอกจากนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับเปรตในพระไตรปิฎกเล่มอื่นๆอีกมากมาย เช่น พระไตรปิฎกเล่มที่ 25 (ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต) ได้กล่าวถึง เปรตงูและเปรตกา

ความหมายของคำว่า “เปรต”

เมื่อกล่าวถึงเปรตคนส่วนใหญ่จะคิดไปว่าเป็นวิญญาณเร่ร่อน ที่เที่ยวขอส่วนบุญตามวัดวาอารามต่างๆ คำว่า “เปรต” มาจากคำสันสกฤต และตรงกับคำบาลีว่า “เปตะ” ซึ่งแปลได้ 2 ความหมาย คือ

1. เปรต หมายถึง ผู้ละไปแล้ว หรือผู้ที่ตายจากโลกนี้ไปแล้ว

2. เปรต หมายถึง ผู้ห่างไกลจากความสุข คือผู้ที่ตายจากโลกนี้แล้วแต่ต้องทนทุกข์ทรมานรับใช้ผลแห่งกรรมที่ได้กระทำไป

รูปปั้นเปรต วัดม่วง อ่างทอง

รูปปั้นเปรต วัดม่วง อ่างทอง

ประเภทของเปรตตามลักษณะการเสวยกรรม มี 5 ประเภท

1. ขุปปิปาสิกเปรต (เปรตหิวกระหาย) คือเปรตที่หิวโหย อดอยาก เที่ยวแสวงหาอาหารไปตามสถานที่ต่างๆ แต่ก็หากินไม่ได้ต้องหิวโหยอย่างน่าเวทนา บุพกรรมที่ได้ทำไว้ เชื่อกันว่า เกิดจากความตระหนี่ ไม่ชอบทำบุญ ไม่เผื่อแผ่ จึงเป็นเหตุให้ต้องหิวกระหายเมื่อต้องไปเป็นเปรต

2. วันตาสเปรต (เปรตกินของสกปรก) คือเปรตที่กินของสกปรกเป็นอาหาร เช่น อุจจาระ ซากศพ เชื่อว่าเกิดจากผลกรรมที่ พูดจาไม่ดี เล่าความเท็จ ทำร้ายคนด้วยการโกหก

3.  ปรทัตตูปชีวีเปรต (เปรตขอส่วนบุญ) เปรตประเภทนี้ จะหิวโหยเพราะไม่มีอาหาร จะได้รับอาหารหรือพ้นกรรมก็ต่อเมื่อญาติพี่น้องอุทิศบุญส่วนกุศลมาให้

4. ณิชฌามตัณหิกเปรต (เปรตไฟเผา) ได้รับผลกรรมมีไฟแผดเผาอยู่ตลอดเวลา

5. เวมานิกเปรต (เปรตมีวิมาน) เป็นเปรตประเภทที่เคยทำดีและชั่วปะปนกัน ในเวลากลางวันจะอยู่ในวิมาน แต่เวลากลางคืนต้องชดใช้กรรม

เรื่องของเปรตในพระไตรปิฎกตอนหนึ่ง ในเปรตในลักขณสังยุต วรรคที่ 1 พระไตรปิฎกเล่มที่ 25

เช้ามืดวันหนึ่ง พระโมคคัลลานะกำลังเดินลงจากเขาคิชฌกูฏ เพื่อลงมาบิณฑบาต ได้ปรากฏเห็นเปรตตนหนึ่ง มีลักษณะเป็นโครงกระดูกลอยไปมาบนอากาศ สูงประมาณ 3 โยชน์ ถูกกลุ่มฝูงแร้งปากเหล็ก บินโฉบเข้าจิก รุมทึ้ง ส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด น่าสังเวชใจ

พระโมคคัลลานะ จึงได้เข้ากราบทูลถามถึงบุพกรรมของเปรตตนนั้นต่อพระพุทธองค์ และพระองค์ได้ตรัสเล่าว่า เมื่อก่อนเปรตตนนั้นเคยเกิดเป็นพ่อค้า มีอาชีพฆ่าวัวและชำแหละเนื้อขาย แล้วนำโครงกระดูกมากองรวมกัน ด้วยบุพกรรมนี้ จึงทำให้เขาต้องตกนรกหลายแสนปี เมื่อพ้นกรรมจากนรก ก็ยังเหลือเศษกรรมให้มาเกิดเป็นเปรตทุกข์ทรมานอยู่เช่นนี้

เรียบเรียงเนื้อหาจาก หนังสือ “ระวังจะเป็นเปรต” โดย ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัตย์

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ โปรดเปรตที่ลุ่มแม่น้ำโขง

เมื่อครั้งที่ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ บวชได้ไม่กี่พรรษา และมีวาสนาได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านหลวงปู่แหวนได้รับการสั่งสอนข้อธรรม และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงปู่มั่น และได้มีความก้าวหน้าในธรรมเป็นอย่างยิ่ง ขณะจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์มั่นที่บ้านนาหมีนายูง อำเภอน้ำโสน จังหวัดอุดรธานี ท่านหลวงปู่มั่นได้บอกเล่าให้ฟังว่า ใกล้ฝั่งแม่น้ำโขงมีถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่ง ที่ถ้ำนั้นมีเปรตตนหนึ่งสิงสู่อยู่ไม่ยอมไปไหน หากได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมในถ้ำนั้นให้ลองถามเปรตดูว่าเหตุใดจึงต้องมาเป็นเปรต

หลังจากที่หลวงปู่แหวนน้อมรับคำบอกเล่าเช่นนั้น ท่านจึงเดินทางไปที่ถ้ำดังกล่าว เพียงรูปเดียว เมื่อไปถึงที่ถ้ำแห่งนั้น ได้พบว่าเป็นสถานที่ร่มรื่นสงบสงัด เหมาะสมแก่การที่จะเจริญภาวนา วิปัสสนาอย่างยิ่ง ภายในถ้ำมีความสะอาด ด้านนอกปากถ้ำเป็นพื้นที่ราบเรียบสามารถที่จะใช้เป็นทางเดินจงกรมได้ ช่วงใกล้ค่ำ เมื่อหลวงปู่แหวนได้ทำวัตรสวดมนต์แล้วท่านก็เข้าที่ภาวนาภายในถ้ำต่อทั้นที โดยไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติแต่อย่างใด ผ่าไปจนถึงคืนที่สามจึงได้ปรากฏเห็นเปรตตนหนึ่งขึ้น

หลวงปู่แหวน

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

โดยแสดงกายมืดดำ และมีความสูงใหญ่ น่าพรั่นพรึง ยืนปักหลักขวางหน้าถ้ำ หลวงปู่แหวนเห็นเปรตแล้วก็มิได้หวาดหวั่นแต่ประการใด เพียงแต่แผ่เมตตาให้ด้วยจิตกุศลเต็มเปี่ยม ปรารถนาจะให้พลังแห่งความเมตตาผ่อนคลายความทุกข์ซึ่งสุมรุมเปรตตนดังกล่าว อยู่ จากนั้นก็กำหนดจิตถามเปรตไปว่า “ชาติก่อนเคยทำกรรมอะไรไว้ถึงได้มาเป็นเปรต” เปรตตนนั้นเงียบเฉยไม่ตอบ และอันตรธานหายไป หลายคืนต่อมาปรากฎว่าเปรตตนเดิมมาแสดงร่างร้ายให้หลวงปู่แหวนเห็นทุกคืนใน ลักษณะคืนแรก คือมายืนตระหง่านเงียบงันด้วยร่างอันสูงใหญ่ทะมึนดำ ประหนึ่งต้องการข่มขวัญให้พระธุดงค์กรรมฐานเกิดความหวาดกลัว ทว่าหลวงปู่แหวนมีจิตที่มั่นคงแน่วแน่อยู่ในธรรม

ฉะนั้นท่านจึงตัดขาดไปจากความพรั่นพรึงทั้งปวงหมดสิ้น กระทั่งคืนหนึ่งเปรตมาปรากฎร่างให้หลวงปู่แหวนเห็นอีก เมื่อท่านแผ่เมตตาให้แล้ว กำหนดจิตสอบถามเช่นครั้งก่อนๆ คราวนี้เปรตยอมพูดติดต่อด้วย โดยเล่าให้หลวงปู่แหวนฟังว่า ชาติก่อนเมื่อเป็นมนุษย์เพศชายตนเป็นนักเลงไก่ชน ลุ่มหลงในการชนไก่ ซึ่งมีเดิมพันมาใช้จ่ายอย่างสำราญ คราวใดไก่ชนของตนพ่ายแพ้เสียเงินเดิมพันไปตนก็จะถูกโทสะครอบงำจัดการฆ่าไก่ ตัวที่ชนแพ้ และหากไก่ชนตัวใดสู้จนได้รับบาเจ็บหนัก หรือพิการ ตนก็จะฆ่าเอมากินหมดเช่นกัน ได้กระทำกรรมชั่วนี้เป็นอาจิณตั้งแต่หนุ่มยันแก่ ครั้นอายุมากก็ล้มป่วย มีอาการเจ็บปวดแสนสาหัสจนสิ้นใจตาย ตายแล้วยังต้องไปรับกรรมในนรกเป็นเวลานานจนประมาณมิได้ ครั้นพ้นจากนรกจึงมาผุดเป็นเปรต

หลวงปู่แหวนจึงถามว่า “เหตุใดไม่ไปผุดไปเกิดเสียที ทำไมต้องมาเป็นเปรตเฝ้าถ้ำ เฝ้าป่า ให้ลำบากทุกข์ยากเช่นนี้” เปรตตอบว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะยังห่วงเรื่องอาหารที่ได้เสพ เนื่องจากชาวบ้านที่อยู่ย่านนี้ นำหมูเห็ดเป็ดไก่ มาเซ่นสังเวยทุกครั้งที่เข้ามาตัดไม้และหาของป่า หากไปอยู่ที่อื่นกลัวจะอดอยาก เปรตยังเล่าต่อว่า หากชาวบ้านไม่เซ่นสังเวย ตนก็จะกระทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ชาวบ้านจึงกลัวตนมาก หลวงปู่แหวนได้เทศนาชี้ทางให้เปรตผละจากที่อยู่อาศัยนี้ไปเสียเถิด เพราะถ้าจิตหลุดจากความยึดมั่นถือมั่นได้เมื่อใด ตนเองก็จะมีโอกาสไปเกิดใหม่ตามกระแสกรรมของตน

มิเช่นนั้นก็ต้องจมอยู่ก้บถ้ำแห่งนี้ เพราะความยึดมั่นยึดเหนี่ยวฉุดรั้งไว้ และถ้าสิงอยู่ถ้ำแห่งนี้ด้วยความหวงแหนสถานที่คอยหวาดระแวงว่าจะมีผู้อื่นมา แย่งถ้ำนี้ไปเปรตย่อมแสดงตัวให้ผู้พบเห็นหวาดกลัวเพื่อให้หนีไปเสีย หากมีพระธุดงค์รูปอื่นจาริกผ่านมา เปรตแสดงตัวเจตนาขับไล่เช่นที่เคยทำมา พระธุดงค์มีจิตเข้มแข็ง และมีสติมั่นคงย่อมไม่เกิดผลร้ายอะไร แต่หากพระธุดงค์จิตไม่แก่กล้า หวาดกลัวจนไร้สติ ย่อมเป็นผลให้เสียจริต หรืออาจถึงมรณภาพ บาปเวรก็จะตกแก่เปรต กลายเป็นอกุศลกรรมซับซ้อนจนไม่อาจพบกับทางสว่างได้อีก

เปรตรับ ฟังด้วยความสงบ แต่ยังไม่สามารถกระทำตามคำเทศนาของหลวงปู่แหวนได้ ท่านเห็นว่าเปรตยังมีมิจฉาทิฐิมั่นคงท่านก็ต้องวางตนอยู่ในอุเบกขา เมื่อเจริญภาวนาครบกำหนดตามที่ได้กำหนดเจตนาเอาไว้แล้ว หลวงปู่แหวนจึงจาริกลับมากราบเรียนถวายรายงานต่อท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ บ้านนาหมีนายูง ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่น ก็ไม่ได้กล่าวว่ากะไร ภายหลังเมื่อพระอาจารย์มั่นมีโอกาสผ่านได้เมตตาโปรดเปรตตนนั้น และเปรตตนนั้นก็หลุดพ้นไปจากถ้ำได้ในที่สุด

เรียบเรียงเนื้อหาจาก http://guru.google.co.th

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด