YouTube : FaithThaiStory
สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังโบราณสถานแห่งหนึ่งที่หลายท่านอาจไม่เคยรู้ นั่นก็คือโบราณสถาน เทวสถานหรือโบสถ์เทวรูปฮินดูในสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่ ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
เทวสถานนี้เป็นไปตามคติความเชื่อเกี่ยวกับเทพในศาสนาฮินดู และในสมัยกรุงอยุธยาให้การเคารพกษัตริย์เปรียบสมมุติเทพแสดงถึงอำนาจบารมีในการปกครองบ้านเมือง จึงมีพิธีกรรมทางพราหมณ์ในพระราชพิธีตลอดมาและมีเทวสถานตรงนี้นั่นเอง
ปัจจุบัน โบราณสถานนี้ กำลังได้รับการขุดสำรวจทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร เพื่อเป็นการเปิดเผยเรื่องราวประวัติศาสตร์สู่สาธารณชนให้ได้เรียนรู้ และอาจจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ต่อไป
โอกาสนี้ผมจึงขอนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเทวสถานสมัยอยุธยามานำเสนอให้เกิดความรู้เบื้องต้นแก่ผู้สนใจดังต่อไปนี้
คติความเชื่อเรื่องเทพในสมัยอยุธยา
คติความเชื่อเกี่ยวกับเทพในศาสนาฮินดูสมัยอยุธยานั้น มีมาตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา จากวิทยานิพนธ์เรื่อง รูปเคารพในศาสนาฮินดูสมัยกรุงศรีอยุธยา โดย ผศ.ดร.เอกสุดา สิงห์ลำพอง ได้อธิบายบันทึกคติความเชื่อในสมัยอยุธยาไว้ว่า ความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่แรกสร้างกรุง จากบันทึกในพงศาวดารหลายฉบับ เช่น ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, ฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม), ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด), ฉบับพระราชหัตถเลขา และฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น
เนื้อความในพงศาวดารกล่าวถึงการเสด็จขึ้นครองราชย์สถาปนากรุงศรีอยุธยา ความว่า “…ศุภมัสดุ ศักราช ๗๑๒ ปีขาลโทศก (พ.ศ. ๑๘๙๓) วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลา ๓ นาฬิกา ๙ บาท สถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา ชีพ่อพราหมณ์ให้ฤกษ์ตั้งพิธีกลบบัตร ได้สังข์ทักขิณาวัฏใต้ต้นหมันใบหนึ่ง… และพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาเสวยราชสมบัติ ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามชื่อ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว…”
และจากข้อมูลการสำรวจทางโบราณคดีของกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2512 กล่าวว่า เทวสถานเดิมของกรุงศรีอยุธยาคือบริเวณศาลพระกาฬ ในบริเวณแยกตะแลงแกง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือราวพุทธศตวรรษที่ 20 ลักษณะเป็นปรางค์ซุ้มสี่ทิศ และเคยมีการขุดสำรวจพบเทวรูปสำริด เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเนศ
ต่อมายุคหลัง ราวปี พ.ศ.2179 ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้เปลี่ยนแปลงศาลพระกาฬจากเทวสถานเป็นพุทธสถาน แล้วย้ายเทวสถานมาตั้งในย่านชีกุน ตามบันทึกในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกว่า “…ศักราช 998 ปี ชวด อัฐศก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้รื้อเทวสถานพระอิศวรพระนารายณ์ขึ้นมาตั้งยังชีกุน…” ซึ่งก็คือบริเวณที่กำลังมีการขุดสำรวจทางโบราณคดีในปัจจุบันนี้(ปีพ.ศ.2563 – 2564)
ความสำคัญของเทวสถานในสมัยอยุธยามีเรื่อยมาและปรากฏในพงศาวดารอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีการบันทึกถึงการสร้างเทวรูปอย่างมากมาย ดังตัวอย่างในพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกว่า
ในเดือนยี่ ปีวอกนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพุทธเจ้าอยู่หัวบำเพ็ญพระราชกุศลนานาประการ แล้วให้หล่อรูปพระอิศวรเป็นเจ้ายืน สูงศอกคืบมีเศษพระองค์หนึ่ง รูปพระศิวาทิตย์ยืนสูงศอกมีเศษพระองค์หนึ่ง รูปพระมหาวิฆเนศวรพระองค์หนึ่ง รูปพระจันทราทิศวรพระองค์หนึ่ง และรูปพระเจ้าทั้งสี่พระองค์นี้สวมทองนพคุณ และเครื่องอาภรณ์ประดับนั้นถมยาราชาวดีประดับแหวนทุกพระองค์ไว้บูชาสำหรับการพระราชพิธี…
นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาบันทึกที่เกี่ยวข้องกับเทวสถานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านผู้ติดตามสามารถศึกษาและอ่านเพิ่มเติมได้ในพงศาวดารที่กล่าวข้างต้น
เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย เทวสถานก็ถูกทิ้งร้างทรุดโทรมไป หลงเหลือเพียงรากฐานที่ปรากฏเห็นการก่ออิฐ มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่เติบโตขึ้นกลางโบราณสถานนี้ และกำลังได้รับการขุดสำรวจทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ต่อไปในอนาคต
จากการท่องเที่ยวพบว่ามีการขุดพบรากฐานเป็นบริเวณที่กว้าง และพบชิ้นส่วนหินทรายอาจจะเป็นชิ้นส่วนของเทวรูป หรืออาจจะเป็นชิ้นส่วนของพาหนะของเทพ เช่น โคนันทิ ซึ่งเป็นพาหนะของพระศิวะ ซึ่งคงต้องรอการสรุปจากกรมศิลปากรต่อไป
สำหรับท่านที่สนใจ สามารถเดินทางไปชมเทวสถานนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย บริเวณใกล้วงเวียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย สังเกตได้จากโบราณสถานเชิงสะพานชีกุน ซึ่งเทวสถานจะตั้งอยู่ภายในบริเวณหน้าอาคารสถานีตำรวจหลังเดิมครับ
สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ
ช่องทางการติดตาม
Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com
Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน