พระธาตุดอยตุง ปฐมธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งเทือกเขาดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สวัสดีครับบทความต่อไปนี้จะเป็นการเดินทางสักการะพระธาตุดอยตุง ณ วัดพระมหาชินธาตุเจ้า หรือวัดพระธาตุดอยตุง ซึ่งเป็นการเดินทางบูชาพระธาตุที่ไกลที่สุดของผม ด้วยระยะทางจากพระนครศรีอยุธยาจนถึงองค์พระธาตุดอยตุงกว่า 790 กิโลเมตร ถือเป็นทริปเสริมสิริมงคลและได้มีโอกาสค้นหาข้อมูลทางด้านตำนาน วัฒนธรรมและด้านจิตวิญญาณความเชื่ออีกด้วย
บันทึกการเดินทาง 3 กรกฎาคม 2563
การเดินทางครั้งนี้ มีเหตุผลมาจากผมได้รับทราบเรื่องราวจาก เพจฅนขลัง คลังวิชา ที่ได้กล่าวถึงตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุแห่งนี้ ตามคำบอกกล่าวจากหลวงปู่เดินหน ซึ่งเป็นเรื่องเร้นลับด้านจิตวิญญาณที่น้อยคนจะรู้และเข้าใจ ผมจึงเกิดความสนใจที่จะเดินทางไปให้ได้สักครั้งในชีวิต
ด้วยระยะทางที่ไกล จึงได้มีการจัดรถบัสรวมกลุ่มเดินทางจากผู้ติดตามเพจฅนขลัง คลังวิชา เพื่อไปสักการะพระธาตุพร้อมกัน และผมก็ไม่พลาดโอกาสครั้งนี้ จึงได้นัดหมายเดินทาง โดยผมได้รอรถบัสที่อยุธยาปาร์ค เวลาราว 3 ทุ่ม ของวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 จึงได้ขึ้นรถตามนัดหมาย การเดินทางค่อนข้างไกล ซึ่งคงจะใช้เวลามากกว่า 12 ชั่วโมง แต่ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ไปสักการะ
เวลาราว 07.00 น. รถบัสได้มาถึง ปั้ม ปตท. อ.งาม จ.ลำปาง จึงได้จอดรถเพื่อพักทำภารกิจส่วนตัว และออกเดินทางต่อไป เพื่อขึ้นรถสองแถวขึ้นดอยตุงต่อไป
จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.00 น. รถบัสได้มาถึงจุดขึ้นรถสองแถว ซึ่งจะต้องขึ้นไปต่ออีกประมาณ 20 กิโลเมตร การเดินทางขึ้นดอยสมัยนี้มีความสะดวกมากขึ้น เพราะมีการตัดถนนใหม่ ท่านที่จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็สามารถขึ้นได้นะครับ
ใช้เวลาไม่นานนัก ก็มาถึงองค์พระธาตุดอยตุงทันเวลาตามนัดหมาย บรรยากาศมีหมอกลงมากพอสมควร แต่สักพักเมื่อใกล้พิธีหมอกก็เริ่มจางลงไป ผมจึงได้ไปร่วมห่มผ้าพระธาตุ บูชาสักการะและกราบพระประธานในอุโบสถ
เมื่อผมได้ร่วมการบูชาห่มผ้าแล้ว จึงไดเข้าไปในพระอุโบสถเพื่อสักการะบูชาพระประธานและสวดมนต์ทำสมาธิ
พระประธานและพระอัครสาวก เป็นการรวมศรัทธาสร้างโดยหลวงพ่อบ๋าวเอง วัดสมณานัมบริหาร (จากหนังสือหลวงปู่ เดินหน อิเกสาโร เล่มที่ 1 โดย ฅนขลัง คลังวิชา)
หลังจากที่กล่าวคำอธิษฐานและบูชาองค์พระธาตุดอยตุง ก็ถึงเวลาการถวายทานและปัจจัยแด่คณะสงฆ์วัดพระธาตุดอยตุง ซึ่งคุณเบน เพจฅนขลัง คลังวิชา เป็นตัวแทนของคณะศรัทธาในครั้งนี้
ขณะที่จะเดินทางลงจากดอย หลังเสร็จพิธีไม่นาน หมอกก็ลงจัดจนมองเห็นหมอกขาวปกคลุมทั้งบริเวณ อาจจะด้วยความบังเอิญแต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจ
ระหว่างทางลงดอย ได้แวะพักเที่ยงทานอาหารและชมบรรยากาศความสวยงามเทือกเขาบริเวณสวนแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีความสวยงามทางธรรมชาติอย่างยิ่ง
เมื่อถึงเวลานัดหมายจึงออกเดินทางไปยังวัดร่องขุ่น ซื้อของฝาก แล้วเดินทางกลับ ซึ่งผมกลับถึงพระนครศรีอยุธยา เวลา 07.00 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 เป็นทริปที่ยอดเยี่ยม เพราะการเดินทางครั้งนี้เอาศรัทธานำ จึงรู้สึกสดชื่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก และโอกาสหน้าผมก็คงจะต้องหาโอกาสเดินทางไปสักการะอีกแน่นอนครับ
ตำนานพระธาตุดอยตุง
จากบันทึกของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้บันทึกเรื่องราวตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุดอยตุงแห่งเทือกเขานางนอนไว้อย่างน่าสนใจ
ตำนานพระธาตุดอยตุง เริ่มต้นจากพุทธพยากรณ์ของพระพุทธเจ้ากกุสันโท พระพุทธเจ้าพระองค์แรกแห่งภัทรกัปนี้ พระองค์ได้เสด็จมาเสวยน้ำทิพย์ที่ถ้ำกุมภ์และทรงพยากรณ์ว่าต่อไปภายภาคหน้าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะเสด็จมาเสวยน้ำทิพย์ที่ถ้ำแห่งนี้
คำว่าถ้ำกุมภ์ เชื่อกันว่าคือถ้ำปุ่มซึ่งตั้งอยู่เชิงดอยนางนอน ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ตั้งของพระธาตุดอยตุง
ต่อมาพระพุทธเจ้าองค์ที่สองแห่งภัทรกัปนี้ได้อุบัติขึ้นคือ พระพุทธเจ้าโกนาคม พระองค์ได้เสด็จมาเสวยน้ำทิพย์ที่ถ้ำกุมภ์เช่นกัน และทรงพยากรณ์ว่า จะมีกษัติริย์จากทิศใต้ริมมหาสมุทรมาตั้งเมืองในที่ราบแห่งนี้ ซึ่งก็คือเมืองสุวรรณโคมคำ
จนกระทั่งมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 แห่งภัทรกัปนี้ ก็คือ พระพุทธเจ้ากัสสะปะได้เสด็จมาเสวยน้ำทิพย์ที่ถ้ำกุมภ์และทรงพยากรณ์ว่า จะมีกษัติรย์จากชมพูทวีปมาตั้งเมืองที่นี่ ซึ่งก็คือเมืองโยนกนาคพันธ์
จนมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าโคดมของเรา ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 แห่งภัทรกัปนี้ พระองค์ได้เสด็จมาประทับบนก้อนหินทรงมะนาวผ่าซีกและมีพุทธพยากรณ์ว่า บริเวณที่ราบแห่งนี้จะเกิดบ้านเมืองที่มีความเจริญ สืบพระศาสนาไปถึง 5,000 ปี และเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จะมีผู้นำพระบรมธาตุของพระองค์มาประดิษฐานไว้ที่นี่ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปเสวยที่ถ้ำกุมภ์เช่นกัน
เมื่อพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของเรา เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1 คือปี พ.ศ. ที่ 1 พระมหากัสสปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ เมื่อการสังคายนาพระไตรปิฎกเสร็จสิ้น พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย ซึ่งก็คือกระดูกไหปลาร้าฝั่งซ้ายของพระพุทธเจ้า มายังเมืองโยนกนาคพันธ์ตรงกับสมัยพระเจ้าอชุตตราช กษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ
พระเจ้าอชุตตราช ทรงอาราธนาพระบรมธาตุไปประดิษฐานบนก้อนหินทรงมะนาวผ่าซีกบนดอยดินแดง จากนั้นพระมหากัสสปะเถระได้เนรมิตตุง คำว่าตุงที่กล่าวนี้ มีความหมายว่าธง
ซึ่งมีความยาว 7,000 วา กว้าง 500 วา เสาตุงสูง 8,000 วา เป็นหมายของพระธาตุ ผู้คนจึงกล่าวว่าสถานที่แห่งนี้คือ ดอยตุง
ในครั้งนั้น พระเจ้าอชุตตราช มอบทองคำให้ปู่เจ้าและย่าเจ้าลาวจกผู้เป็นใหญ่ในอาณาเขตนี้ ให้อยู่เฝ้าบำรุงรักษาพระธาตุแห่งนี้ นาน 200 ปี
ต่อมามีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 พระมหาวชิรโพธิ์อรหันต์ได้ร่วมทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งนี้ และได้อาราธนาพระบรมธาตุจากเมืองราชคฤห์มาทางอากาศมาประดิษฐานที่เมืองโยนกนคร
พระเจ้ามังรายนราชจึงอัญเชิญพระบรมธาตุมาประดิษฐานบนดอยตุงลงบนหินก้อนเดิม และพระองค์ทรงสร้างเจดีย์ครอบก้อนหินนี้ไว้ พระเจดีย์มีความสูง 7 ศอก บุเงิน บุทองประดับแก้วเจ็ดประการ แล้วสมโภชนาน 3 เดือน จากเรื่องราวนี้จึงบังเกิดพระธาตุบนดอยตุงครั้งแรก
จนกระทั่งถึงการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ครั้งนั้นพระมหารักขิตเถระ ได้อาราธนาพระบรมธาตุ 9 องค์มายังโยนกนคร ตรงกับสมัยพระเจ้าเพินธิราช แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระองค์ทรงแบ่งพระบรมธาตุออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนแรกพระมหารักขิตเถระอัญเชิญไปดอยโยนบัพตะ ส่วนที่สองอุปราชแสงเมืองอัญเชิญไปภูกวาวหัวเวียงไชยนารายณ์ และส่วนสุดท้าย พระเจ้าเพินธิราช อัญเชิญขึ้นดอยตุง แต่ไม่สามารถบรรจุลงก้อนหินก้อนเดิมได้เนื่องจากพระเจ้ามังรายนราชทรงสร้างเจดีย์ครอบไว้แล้ว พระองค์จึงทรงบรรจุลงใกล้เคียงพระเจดีย์เดิมแล้วก่อเจดีย์ครอบอีกหนึ่งองค์ ทำให้ปัจจุบันนี้ เราจะเห็นพระธาตุดอยตุงมีเจดีย์ประดิษฐานอยู่สององค์นั่นเอง
วันมหามงคลเพื่อสักการะพระธาตุดอยตุง
เรื่องราวต่อไปนี้ ผมได้คัดลอกและเรียบเรียงมาจากหนังสือ หลวงปู่ เดินหน อิเกสาโร ผู้เปิดโลกหลังความตาย เล่มที่ 1 โดยคุณไตรพล นาคสมบูรณ์(คุณเบน) เพจฅนขลัง คลังวิชา เป็นผู้เขียน จึงขอขอบพระคุณ มา ณ โอกาสนี้
ในหนังสือได้กล่าวถึงพระธาตุดอยตุงไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องราวความศรัทธาและจิตวิญญาณที่ไม่เคยพบเห็นบันทึกนี้จากที่ไหนมาก่อน มีความเรียบเรียงว่า หลวงปู่เดินหน ได้แนะนำให้ลูกศิษย์ขึ้นไปกราบนมัสการ พระมหาชินธาตุเจ้า(ดอยตุง) ให้เป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต แต่จะมีวันสำคัญที่สุดของปี ถือเป็นวันมหามงคลในการสักการะเพียงวันเดียวในแต่ละปีคือ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือ วันโกนก่อนวันอาสาฬหบูชา 1 วัน ซึ่งเป็นวันสำคัญตามหลักจิตวิญญาณ เป็นวันที่พลังศักดิ์สิทธิ์จากเบื้องบนจะแผ่มายังสถานที่ตั้งของพระธาตุดอยตุง หากใครขึ้นไปบูชาองค์พระธาตุในวันดังกล่าวจะได้รับพลังศักดิ์สิทธิ์เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต
และมีหลักสำคัญอีกประการคือ ถ้าใครขึ้นไปบูชาพระธาตุดอยตุงตามวันมหามงคลดังกล่าวข้างต้น ครบตำนวน 18 ครั้ง ผู้นั้นจะไม่ตกต่ำอับจน หากขึ้นไปบูชาครบ 19 ครั้ง ชีวิตจะรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม ตามกำลังวาสนาของแต่ละคน โดยไม่จำเป็นจะต้องบูชาติดต่อกันทุกปี จะเว้นช่วงหรือไม่ก็ได้
สรุปปิดท้าย
การเดินทางครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความรู้ใหม่ทั้งด้านวัฒนธรรม ตำนาน ประวัติศาสตร์ จิตวิญญาณ ความศรัทธาและความเชื่อ ซึ่งมีเรื่องราวผสมผสานกันอย่างลงตัว ถือได้ว่าเป็นความประทับใจที่สุดอีกทริปหนึ่งของผม จึงขอแนะนำให้เดินทางไปสักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป
ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป แอดมินตั้ม – Faiththaistory.com
ช่องทางการติดตาม
Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com
Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน
YouTube Channel FaithThaiStory