พระธาตุดอยตุง ปฐมธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งเทือกเขานางนอน

By | December 3, 2020

https://youtu.be/igNoOH5BF_k

พระธาตุดอยตุง ปฐมธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งเทือกเขาดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สวัสดีครับบทความต่อไปนี้จะเป็นการเดินทางสักการะพระธาตุดอยตุง ณ วัดพระมหาชินธาตุเจ้า หรือวัดพระธาตุดอยตุง  ซึ่งเป็นการเดินทางบูชาพระธาตุที่ไกลที่สุดของผม ด้วยระยะทางจากพระนครศรีอยุธยาจนถึงองค์พระธาตุดอยตุงกว่า 790 กิโลเมตร ถือเป็นทริปเสริมสิริมงคลและได้มีโอกาสค้นหาข้อมูลทางด้านตำนาน วัฒนธรรมและด้านจิตวิญญาณความเชื่ออีกด้วย

ระยะทางสู่พระธาตุดอยตุง

บันทึกการเดินทาง 3 กรกฎาคม 2563

การเดินทางครั้งนี้ มีเหตุผลมาจากผมได้รับทราบเรื่องราวจาก เพจฅนขลัง คลังวิชา ที่ได้กล่าวถึงตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุแห่งนี้ ตามคำบอกกล่าวจากหลวงปู่เดินหน ซึ่งเป็นเรื่องเร้นลับด้านจิตวิญญาณที่น้อยคนจะรู้และเข้าใจ ผมจึงเกิดความสนใจที่จะเดินทางไปให้ได้สักครั้งในชีวิต 

จุดนัดหมายเดินทางหน้าอยุธยาปาร์ค

ด้วยระยะทางที่ไกล จึงได้มีการจัดรถบัสรวมกลุ่มเดินทางจากผู้ติดตามเพจฅนขลัง คลังวิชา เพื่อไปสักการะพระธาตุพร้อมกัน และผมก็ไม่พลาดโอกาสครั้งนี้ จึงได้นัดหมายเดินทาง โดยผมได้รอรถบัสที่อยุธยาปาร์ค เวลาราว 3 ทุ่ม ของวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 จึงได้ขึ้นรถตามนัดหมาย การเดินทางค่อนข้างไกล ซึ่งคงจะใช้เวลามากกว่า 12 ชั่วโมง แต่ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ไปสักการะ

07.00 น. ถึง ปตท. อ.งาม จ.ลำปาง

เวลาราว 07.00 น. รถบัสได้มาถึง ปั้ม ปตท. อ.งาม จ.ลำปาง จึงได้จอดรถเพื่อพักทำภารกิจส่วนตัว และออกเดินทางต่อไป เพื่อขึ้นรถสองแถวขึ้นดอยตุงต่อไป

ทิวทัศน์ระหว่างทางบนรถบัส

จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.00 น. รถบัสได้มาถึงจุดขึ้นรถสองแถว ซึ่งจะต้องขึ้นไปต่ออีกประมาณ 20 กิโลเมตร การเดินทางขึ้นดอยสมัยนี้มีความสะดวกมากขึ้น เพราะมีการตัดถนนใหม่ ท่านที่จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็สามารถขึ้นได้นะครับ

รอขึ้นรถสองแถว เพื่อขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยตุง

ทิวทัศน์เทือกเขาบนรถสองแถว

ใช้เวลาไม่นานนัก ก็มาถึงองค์พระธาตุดอยตุงทันเวลาตามนัดหมาย บรรยากาศมีหมอกลงมากพอสมควร แต่สักพักเมื่อใกล้พิธีหมอกก็เริ่มจางลงไป ผมจึงได้ไปร่วมห่มผ้าพระธาตุ บูชาสักการะและกราบพระประธานในอุโบสถ

ถึงพระธาตุดอยตุง

กลุ่มผู้ศรัทธาที่ร่วมเดินทาง

พิธีห่มผ้าพระธาตุ

ผู้ศรัทธา ร่วมบูชาห่มผ้าพระธาตุ

เมื่อผมได้ร่วมการบูชาห่มผ้าแล้ว จึงไดเข้าไปในพระอุโบสถเพื่อสักการะบูชาพระประธานและสวดมนต์ทำสมาธิ

พระอุโบสถ วัดพระธาตุดอยตุง

พระประธานในพระอุโบสถ

พระประธานในอุโบสถ พระมหากัสสปะอยู่เบื้องขวา, พระอานนท์อยู่เบื้องซ้าย

พระประธานและพระอัครสาวก เป็นการรวมศรัทธาสร้างโดยหลวงพ่อบ๋าวเอง วัดสมณานัมบริหาร (จากหนังสือหลวงปู่ เดินหน อิเกสาโร เล่มที่ 1 โดย ฅนขลัง คลังวิชา)

มวลชนผู้ศรัทธา

หลังจากที่กล่าวคำอธิษฐานและบูชาองค์พระธาตุดอยตุง ก็ถึงเวลาการถวายทานและปัจจัยแด่คณะสงฆ์วัดพระธาตุดอยตุง ซึ่งคุณเบน เพจฅนขลัง คลังวิชา เป็นตัวแทนของคณะศรัทธาในครั้งนี้ 

เตรียมเดินทางลงจากดอยหลังเสร็จพิธี

ขณะที่จะเดินทางลงจากดอย หลังเสร็จพิธีไม่นาน หมอกก็ลงจัดจนมองเห็นหมอกขาวปกคลุมทั้งบริเวณ อาจจะด้วยความบังเอิญแต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจ

หมอกลงจัดจนมองไม่เห็นหลังเสร็จพิธี

ระหว่างทางลงดอย ได้แวะพักเที่ยงทานอาหารและชมบรรยากาศความสวยงามเทือกเขาบริเวณสวนแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีความสวยงามทางธรรมชาติอย่างยิ่ง

ทิวทัศน์บริเวณสวนแม่ฟ้าหลวง

ผมซื้อข้าวเหนียว หมูย่างเป็นอาหารเที่ยง ที่สวนแม่ฟ้าหลวง

เมื่อถึงเวลานัดหมายจึงออกเดินทางไปยังวัดร่องขุ่น ซื้อของฝาก แล้วเดินทางกลับ ซึ่งผมกลับถึงพระนครศรีอยุธยา เวลา 07.00 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 เป็นทริปที่ยอดเยี่ยม เพราะการเดินทางครั้งนี้เอาศรัทธานำ จึงรู้สึกสดชื่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก และโอกาสหน้าผมก็คงจะต้องหาโอกาสเดินทางไปสักการะอีกแน่นอนครับ

แวะวัดร่องขุ่น ก่อนเดินทางกลับ

พักทานอาหารเย็น หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา วันที่ 4 ก.ค. 63

ตำนานพระธาตุดอยตุง

จากบันทึกของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้บันทึกเรื่องราวตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุดอยตุงแห่งเทือกเขานางนอนไว้อย่างน่าสนใจ

ตำนานพระธาตุดอยตุง เริ่มต้นจากพุทธพยากรณ์ของพระพุทธเจ้ากกุสันโท พระพุทธเจ้าพระองค์แรกแห่งภัทรกัปนี้ พระองค์ได้เสด็จมาเสวยน้ำทิพย์ที่ถ้ำกุมภ์และทรงพยากรณ์ว่าต่อไปภายภาคหน้าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะเสด็จมาเสวยน้ำทิพย์ที่ถ้ำแห่งนี้

คำว่าถ้ำกุมภ์ เชื่อกันว่าคือถ้ำปุ่มซึ่งตั้งอยู่เชิงดอยนางนอน ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ตั้งของพระธาตุดอยตุง

ถ้ำปุ่ม ต.โป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ต่อมาพระพุทธเจ้าองค์ที่สองแห่งภัทรกัปนี้ได้อุบัติขึ้นคือ พระพุทธเจ้าโกนาคม พระองค์ได้เสด็จมาเสวยน้ำทิพย์ที่ถ้ำกุมภ์เช่นกัน และทรงพยากรณ์ว่า จะมีกษัติริย์จากทิศใต้ริมมหาสมุทรมาตั้งเมืองในที่ราบแห่งนี้ ซึ่งก็คือเมืองสุวรรณโคมคำ

จนกระทั่งมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 แห่งภัทรกัปนี้ ก็คือ พระพุทธเจ้ากัสสะปะได้เสด็จมาเสวยน้ำทิพย์ที่ถ้ำกุมภ์และทรงพยากรณ์ว่า จะมีกษัติรย์จากชมพูทวีปมาตั้งเมืองที่นี่ ซึ่งก็คือเมืองโยนกนาคพันธ์

จนมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าโคดมของเรา ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 แห่งภัทรกัปนี้ พระองค์ได้เสด็จมาประทับบนก้อนหินทรงมะนาวผ่าซีกและมีพุทธพยากรณ์ว่า บริเวณที่ราบแห่งนี้จะเกิดบ้านเมืองที่มีความเจริญ สืบพระศาสนาไปถึง  5,000 ปี และเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จะมีผู้นำพระบรมธาตุของพระองค์มาประดิษฐานไว้ที่นี่ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปเสวยที่ถ้ำกุมภ์เช่นกัน

ภาพเก่าพระธาตุดอยตุง จากหนังสือพลิกประวัติศาสตร์ พระธาตุดอยตุง สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่

เมื่อพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของเรา เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1 คือปี พ.ศ. ที่ 1 พระมหากัสสปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์  เมื่อการสังคายนาพระไตรปิฎกเสร็จสิ้น พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย ซึ่งก็คือกระดูกไหปลาร้าฝั่งซ้ายของพระพุทธเจ้า มายังเมืองโยนกนาคพันธ์ตรงกับสมัยพระเจ้าอชุตตราช กษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ

พระเจ้าอชุตตราช ทรงอาราธนาพระบรมธาตุไปประดิษฐานบนก้อนหินทรงมะนาวผ่าซีกบนดอยดินแดง จากนั้นพระมหากัสสปะเถระได้เนรมิตตุง คำว่าตุงที่กล่าวนี้ มีความหมายว่าธง

ซึ่งมีความยาว 7,000 วา กว้าง 500 วา เสาตุงสูง 8,000 วา เป็นหมายของพระธาตุ  ผู้คนจึงกล่าวว่าสถานที่แห่งนี้คือ ดอยตุง

พระธาตุดอยตุงในปัจจุบัน ปี 2563

ในครั้งนั้น พระเจ้าอชุตตราช มอบทองคำให้ปู่เจ้าและย่าเจ้าลาวจกผู้เป็นใหญ่ในอาณาเขตนี้ ให้อยู่เฝ้าบำรุงรักษาพระธาตุแห่งนี้ นาน 200 ปี

ต่อมามีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 พระมหาวชิรโพธิ์อรหันต์ได้ร่วมทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งนี้ และได้อาราธนาพระบรมธาตุจากเมืองราชคฤห์มาทางอากาศมาประดิษฐานที่เมืองโยนกนคร

พระเจ้ามังรายนราชจึงอัญเชิญพระบรมธาตุมาประดิษฐานบนดอยตุงลงบนหินก้อนเดิม และพระองค์ทรงสร้างเจดีย์ครอบก้อนหินนี้ไว้ พระเจดีย์มีความสูง 7 ศอก บุเงิน บุทองประดับแก้วเจ็ดประการ แล้วสมโภชนาน 3 เดือน จากเรื่องราวนี้จึงบังเกิดพระธาตุบนดอยตุงครั้งแรก

พระธาตุดอยตุงในปัจจุบัน ปี 2563

จนกระทั่งถึงการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3  ครั้งนั้นพระมหารักขิตเถระ ได้อาราธนาพระบรมธาตุ 9 องค์มายังโยนกนคร ตรงกับสมัยพระเจ้าเพินธิราช แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระองค์ทรงแบ่งพระบรมธาตุออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรกพระมหารักขิตเถระอัญเชิญไปดอยโยนบัพตะ ส่วนที่สองอุปราชแสงเมืองอัญเชิญไปภูกวาวหัวเวียงไชยนารายณ์ และส่วนสุดท้าย พระเจ้าเพินธิราช อัญเชิญขึ้นดอยตุง แต่ไม่สามารถบรรจุลงก้อนหินก้อนเดิมได้เนื่องจากพระเจ้ามังรายนราชทรงสร้างเจดีย์ครอบไว้แล้ว พระองค์จึงทรงบรรจุลงใกล้เคียงพระเจดีย์เดิมแล้วก่อเจดีย์ครอบอีกหนึ่งองค์  ทำให้ปัจจุบันนี้ เราจะเห็นพระธาตุดอยตุงมีเจดีย์ประดิษฐานอยู่สององค์นั่นเอง

https://youtu.be/rUFJnZbcy0Y

วันมหามงคลเพื่อสักการะพระธาตุดอยตุง

เรื่องราวต่อไปนี้ ผมได้คัดลอกและเรียบเรียงมาจากหนังสือ หลวงปู่ เดินหน อิเกสาโร ผู้เปิดโลกหลังความตาย เล่มที่ 1 โดยคุณไตรพล นาคสมบูรณ์(คุณเบน) เพจฅนขลัง คลังวิชา เป็นผู้เขียน จึงขอขอบพระคุณ มา ณ โอกาสนี้

หนังสือ หลวงปู่ เดินหน อิเกสาโร เล่มที่ 1

ในหนังสือได้กล่าวถึงพระธาตุดอยตุงไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องราวความศรัทธาและจิตวิญญาณที่ไม่เคยพบเห็นบันทึกนี้จากที่ไหนมาก่อน มีความเรียบเรียงว่า หลวงปู่เดินหน ได้แนะนำให้ลูกศิษย์ขึ้นไปกราบนมัสการ พระมหาชินธาตุเจ้า(ดอยตุง) ให้เป็นประจำทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต แต่จะมีวันสำคัญที่สุดของปี ถือเป็นวันมหามงคลในการสักการะเพียงวันเดียวในแต่ละปีคือ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือ วันโกนก่อนวันอาสาฬหบูชา 1 วัน ซึ่งเป็นวันสำคัญตามหลักจิตวิญญาณ เป็นวันที่พลังศักดิ์สิทธิ์จากเบื้องบนจะแผ่มายังสถานที่ตั้งของพระธาตุดอยตุง หากใครขึ้นไปบูชาองค์พระธาตุในวันดังกล่าวจะได้รับพลังศักดิ์สิทธิ์เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต

และมีหลักสำคัญอีกประการคือ ถ้าใครขึ้นไปบูชาพระธาตุดอยตุงตามวันมหามงคลดังกล่าวข้างต้น ครบตำนวน 18 ครั้ง ผู้นั้นจะไม่ตกต่ำอับจน หากขึ้นไปบูชาครบ 19 ครั้ง ชีวิตจะรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม ตามกำลังวาสนาของแต่ละคน โดยไม่จำเป็นจะต้องบูชาติดต่อกันทุกปี จะเว้นช่วงหรือไม่ก็ได้

พลังศรัทธา ณ วัดพระธาตุดอยตุง

สรุปปิดท้าย

การเดินทางครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความรู้ใหม่ทั้งด้านวัฒนธรรม ตำนาน ประวัติศาสตร์ จิตวิญญาณ ความศรัทธาและความเชื่อ ซึ่งมีเรื่องราวผสมผสานกันอย่างลงตัว ถือได้ว่าเป็นความประทับใจที่สุดอีกทริปหนึ่งของผม จึงขอแนะนำให้เดินทางไปสักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป

ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป แอดมินตั้ม – Faiththaistory.com

ช่องทางการติดตาม

Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com

Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน 

YouTube Channel FaithThaiStory

Instagram

TikTok