YouTube : FaithThaiStory
พาเที่ยวนนทบุรี ชมโบราณสถาน วัดโชติการาม เดิมชื่อว่า “วัดสามจีน” ตั้งอยู่ที่ ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อราวปี พ.ศ.2350 โดยชาวจีนสามคน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยพระยาโชฎึกราช(บุญมา) และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโชติการาม จากรูปแบบสถาปัตยกรรมมีการสืบทอดรูปแบบมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
โบราณสถานสำคัญในวัดได้แก่ อุโบสถ เจดีย์ประธาน และวิหาร ซึ่งตั้งเรียงกันในแนวทิศเหนือและใต้
อุโบสถเป็นอาคารทรงวิลันดา เป็นอาคารขนาดเล็ก หน้าบันใช้การก่ออิฐประดับลวดลายปูนปั้นแทนจั่วไม้แกะสลัก ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีภาพปูนปั้นหน้าบันเล่าเรื่องราวในชาดกเรื่อง ภูริทัตชาดก ประดับด้วยเครื่องถ้วยจีน ที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ท่ามกลางลวดลายพรรณพฤกษา ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย และหมู่พระพุทธรูปอีกหลายองค์
เจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง สร้างบนฐานประทักษิณ 2 ชั้น ระเบียงฐานประทักษิณตกแต่งด้วยกระเบื้องปรุลายจีน มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ เจดีย์มีชุดฐานสิงห์ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น เป็นรูปแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
วิหารเป็นอาคารขนาดเล็ก บานประตูด้านนอกแกะสลักรูปทวารบาลแบบจีนยืนบนสิงโต บานหน้าต่างด้านนอกตกแต่งลายรดน้ำ ด้านในบานประตูและหน้าต่างเขียนภาพแจกันทรงสูงใส่ดอกไม้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3-4 เป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าและภาพในพุทธประวัติ
จากการสำรวจทางโบราณคดีรอบอุโบสถและเจดีย์ประธาน โดยกรมศิลปากร พบว่ามีการสร้างและบูรณะ 3 ระยะ ได้แก่
- แรกสร้างวัด สันนิษฐานสร้างราวสมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงรัชกาลที่ 1 เพราะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย(แต่ตามบันทึกว่าสร้างสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2350) แรกสร้างมีอุโบสถ เจดีย์ กำแพงแก้วรอบอุโบสถ(รากฐานอยู่ใต้กำแพงแก้วปัจจุบัน) พบโบราณวัตถุที่ขุดพบ เช่น ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาบ้านบางปูน(พุทธศตวรรษที่ 18-22) เศษภาชนะดินเผาแหล่งเตาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี(พุทธศตวรรษที่ 20 – 24) เศษเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หมิง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 และกระเบื้องเชิงชายลายเทพพนม ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23
- ครั้งที่ 2 ปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2375-2380) โดยพระยาโชฎึกราช(บุญมา) มีการสร้างกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกของเจดีย์เพิ่มเติม เนื่องจากมีรูปแบบศิลปกรรมอิทธิพลจากศิลปะจีน
- ครั้งที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 4 มีการสร้างวิหารและเขียนภาพจิตรกรรมภายใน
ก่อนเดินทางกลับขอแนะนำร้านก๋วยเตี๋ยวหน้าวัดโชติการาม “ก๋วยเตี๋ยว เบิ้ม วัดโชติ” มีทั้งหมูและเนื้อ อร่อยมากครับ
ช่องทางการติดตาม
Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com
Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน