สวัสดีครับท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยววัดทุกท่าน วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางเข้าไปชมถ้ำช่องสาริกา ที่วัดช่องสาริกาใน จังหวัดลพบุรี… ซึ่งถือเป็นความบังเอิญที่ผมได้เดินทางมายังวัดแห่งนี้เพราะว่าเป็นทางผ่าน และสายตาไปเหลือบเห็นป้ายบอกทางชมถ้ำโบราณ ที่วัดช่องสาริกาใน… ผมจึงตัดสินใจเลี้ยวรถมาตามป้ายอย่างไม่ต้องคิดมาก เพราะโดยส่วนตัวผมชอบบรรยากาศในถ้ำอยู่แล้ว (เฉพาะถ้ำที่มีแสงสว่างๆนะครับ ส่วนถ้ำมืดๆ ผมก็หลอนเหมือนกัน ฮ่าๆ)
สำหรับเรื่องราวประวัติความเป็นมาของถ้ำแห่งนี้และวัดแห่งนี้และวัดแห่งนี้ ผมก็ไม่ทราบเรื่องราวเลยครับ จึงสามารถค้นหาได้จากวิกิพีเดียเท่านั้น แต่ผมก็จะขอนำภาพและคลิปบรรยากาศนำมาลงรายละเอียดไว้ให้เผื่อว่าท่านที่เดินทางผ่านไปจะได้แวะเข้าไปชมบรรยากาศกันได้
บรรยากาศที่วัดเงียบมากครับ เท่าที่ผมเห็นจะมีเพียงคนงานที่มาทำงานก่อสร้างภายในวัด ส่วนนักท่องเที่ยว ก็มีเพียงกลุ่มผมเท่านั้นครับ
จริงๆแล้วภายในถ้ำจะมืดสนิทเลยครับ เพราะไม่มีช่องแสงภายในเลย แต่ทางวัดได้อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยติดไฟแสงสว่างไว้ให้ สามารถเปิดคัตเอาท์หน้าปากถ้ำแล้วเข้ามากันได้ครับ
ภายในมีกลิ่นมูลค้างคาวเล็กน้อย แต่ทนได้ครับ ไม่ฉุนมาก… ประดิษฐานพระพุทธรูปให้กราบไหว้ และรูปปั้นฤาษี… ในช่วงนอกงานบุญประจำปี อาจจะมีความสกปรกจากมูลค้างคาวบ้างนะครับ เป็นเรื่องปกติ
โดยรวมผมชอบบรรยากาศในถ้ำแห่งนี้ครับ ดูสงบและร่มเย็นดี
ผมชอบบรรยากาศในถ้ำสักระยะหนึ่งจึงเดินออกจากถ้ำ ดูบรรยากาศและเก็บภาพพระอุโบสถก่อนที่จะเดินทางไปยังวัดอื่นๆตามโปรแกรมต่อไป
ประวัติวัดช่องสาริกาใน (พอสังเขป)
เมื่อประมาณปี พุทธศักราช ๒๔๙๐-๒๔๙๕ ประชาชนหลายหมู่บ้านได้อพยพเข้าอาศัยประกอบอาชีพมากขึ้น ในสมัยนั้นเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมมีความยากลำบาก ถนนหนทางก็มีแต่ทางเท้า ทางเกวียน วัดวาอารามก็อยู่ห่างไกลมาก ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง ไปประกอบบำเพ็ญบุญกุศล ชาวบ้านจึงได้ปรึกษาหารือกัน และมีความเห็นสอดคล้องตามกันว่าสมควรที่จะสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้าน จึงได้ริเริ่มดำเนินการสร้างวัด (ที่พักสงฆ์) ขึ้น ในปี พุทธศักราช ๒๔๙๗ โดยมี พระอาจารย์สิงห์ เป็นผู้ปรกครองที่พักสงฆ์ ซึ่งได้รับบริจาคที่ดิน ให้สร้างวัด จากนายสุข บุญจันทร์
ต่อมานายสุข บุญจันทร์ เป็นตัวแทนชาวบ้านได้ไปติดต่อกับทางราชการเพื่อขออนุญาตสร้างวัดให้ถูกต้องตามทะเบียนของกรมการศาสนา(สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) และได้รับอนุญาตให้สร้างวัดจากทางราชการ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๒ จึงได้เริ่มทำการปลูกสิ่งก่อสร้าง เสนาสนะ ถาวรวัตถุขึ้น ตามลำดับ
ต่อมากระทรวงศึกษาธิการก็ได้ประกาศตั้งเป็น“วัด”เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ ชื่อ “วัดช่องสาริกา” โดยมีพระอาจารย์ชื่น เป็นเจ้าอาวาส รูปแรก ต่อมาพระอาจารย์ชื่น มรณภาพ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้ง พระอาจารย์ประเสริฐ จิรวฑฺฒโณ (พันธุ์เจริญ) เป็นเจ้าอาวาส เมื่อพระอาจารย์ประเสริฐ มรณภาพ ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้ง รักษาการเจ้าอาวาส สืบต่อกันมาอีกหลายรูป จนมาถึงสมัย พระอาจารย์โพธิ์ จนฺทปชฺโชโต รักษาการเจ้าอาวาส จึงได้ริเริ่มก่อสร้างโบสถ์ ขึ้น โดยได้ขอพระบรมราชานุญาต นำตราสัญญาลักษณ์งานกาญจนาภิเษก มาประดับหน้าบันอุโบสถ และได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๓๘ และทำการก่อสร้างเรื่อยมา แต่มิทันที่จะแล้วเสร็จ พระอาจารย์โพธิ์ ก็มรณภาพเสียก่อน ต่อมาพระอาจารย์หอม ซึ่งเป็นพระน้องชายของท่าน และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสท่านจึงได้สานงานต่อ ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๑ แต่เนื่องจากในขณะนั้น พระอาจารย์หอม ท่านมีความจำเป็นต้องลาสิกขา เพื่อมาช่วยเหลือแบ่งเบาภาระทางครอบครัว การดำเนินงานจึงขาดช่วงลง และไม่สามารถดำเนินการจัดงาน ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต ให้สำเร็จลุล่วงได้ ในระหว่างนี้ก็ได้มีการแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาส เพื่อดูแลรักษาวัด หลายรูป
จวบจนกระทั่งปี พุทธศักราช ๒๕๔๕ พระอาจารย์ทองพาน ถิรธมฺโม ได้มาพักจำพรรษา และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ ได้พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะทำการ ผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต ให้เรียบร้อย จึงทำการบูรณะ ซ่อมแซม จนเสร็จสมบูรณ์ และได้กำหนดให้มีการผูกพัทธสีมา เพื่อให้ญาติโยม มาร่วมปิดทองฝังลูกนิมิต ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ต่อมาประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ท่านพระอาจารย์ทองพาน ถิรธมฺโม ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เพื่อกลับไปอยู่บ้านเดิมของท่าน ที่จังหวัดราชบุรี
และต่อมาในช่วงเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ญาติโยมก็ได้ทำการนิมนต์ พระอาจารย์อนุชา อุปคุตฺโต มาดูแลรักษาวัด และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ทำหน้าที่ปกครอง ดูแลรักษาวัด และพระภิกษุ สามเณร ตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบัน (ผมเดินทางปี พ.ศ. 2559)
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory