วัดเจดีย์ทอง ปทุมธานี วัดเก่าแก่ศูนย์รวมใจชาวมอญอพยพ… สวัสดีครับ ท่านที่รักการท่องเที่ยววัฒนธรรม ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เพื่อไปเที่ยวชมวัดแห่งหนึ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์สะท้อนเรื่องราวในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวมอญอพยพ นั่นก็คือ วัดเจดีย์ทอง
วัดแห่งนี้มีเอกลักษณ์สำคัญคือ เจดีย์ศิลปะมอญที่บ่งชี้ว่า แถบนี้มีการอพยพของชาวมอญถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวมอญในอดีต
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะแบบมอญ พระนามว่า “หลวงพ่อขาว” อีกด้วย
วัดเจดีย์ทอง ติดริมน้ำเจ้าพระยาในบรรยากาศดีๆ ซึ่งเส้นทางริมน้ำเจ้าพระยาตลอดสายที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี จะมีวัดเก่าแก่มากมายให้เที่ยวชม และสะท้อนเรื่องชุมชนมอญอีกหลายแห่งด้วยครับ
วัดเจดีย์ทอง มีความเป็นไปได้ว่าเป็นวัดเก่ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งรับกับศิลปกรรมใบเสมาหินทรายแดง สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 (อยุธยาตอนปลาย)
จากข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า วัดเจดีย์ทอง เดิมนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาได้ร้างลงจากสงครามกรุงแตก เมื่อ ปี พ.ศ.2310
ต่อมาพระยารามซึ่งเป็นบุตรของพระยาเจ่ง (เป็นน้องเจ้าพระยามหาโยธา)เป็นผู้ริเริ่มบูรณะและสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อสมัยได้อพยพหนีพม่า และได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคก ต่อมาพระยารามผู้นี้ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยานครเขื่อนขันธ์ รามัญราชชาติเสนาบดี ศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษานครเขื่อนขันธ์
วัดเจดีย์ทองได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2508
รูปแบบเจดีย์เลียนแบบมาจากอานันทเจดีย์ในเมืองพุกาม
ตำนานสัญลักษณ์ชาวมอญ
ธงตะขาบ
มีตำนานเล่าว่า ณ ดอยสิงคุตต์ เมืองย่างกุ้ง มีตะขาบยักษ์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่และชอบจับช้างมากินเป็นอาหาร จนซากช้างกองสุมเต็มไปหมด
วันหนึ่งมีพ่อค้าจากต่างแดนผ่านมาพบซากช้างนี้ จึงอาศัยจังหวะที่ตะขาบยักษ์ออกไปหากิน คัดเลือกและขนงาช้างลงเรือสำเภาของตนไป เมื่อตะขาบยักษ์กลับมาเห็นก็โกรธมาก จึงไล่ตามพ่อค้านั้นลงไปในทะเล แต่กลับต้องพบกับปูยักษ์เจ้าทะเลขนาดมหึมา เจ้าตะขาบยักษ์สู้ไม่ได้จึงถูกปูยักษ์จับกินเป็นอาหารไปในที่สุด
ต่อมาในสมัยพุทธกาล ตปุสสะและภัลลิกะ พ่อค้าจากอุกกลชนบท ได้พบกับพระพุทธเจ้าและได้แสดงตนเป็นอุบาสก พระพุทธเจ้าจึงประธานพระเกศาธาตุให้ทั้งสองคน ครั้นเมื่อกลับมาถึงบ้านเมืองของตนแล้ว ก็ได้เสาะหาสถานที่ก่อสร้างเจดีย์บรรจุเกศาธาตุ จนมาสรุปที่ดอยสิงคุตต์ของตะขาบยักษ์ ส่วนเจดีย์นี้ ปัจจุบันก็คือเจดีย์ชเวดากอง และการแขวนธงตะขาบก็เพื่อระลึกถึงตะขาบยักษ์เจ้าถิ่นและบูชาปูชนียสถานด้วยนั่นเอง
หงส์
“หงส์” เป็นสัญลักษณ์ของรามัญประเทศ มีตำนานที่เล่าขานกันมาดังนี้ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ 8 ปี ได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในแคว้นต่างๆ
จนกระทั่งวันหนึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิม ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นเนินดินกลางทะเล เมื่อน้ำงวดสูงได้ประมาณ 23 วา ครั้งน้ำเปี่ยมฝั่งพอน้ำกระเพื่อม บนเนินดินนั้นมีหงส์ทอง 2 ตัวเล่นน้ำอยู่ ตัวเมียเกาะอยู่บนหลังตัวผู้ เนื่องจากเนินดินที่ยืนอยู่มีขนาดเล็กเพียงนิดเดียว พอที่หงส์ยืนได้ตัวเดียวเท่านั้น
พระพุทธองค์ตนัสว่ากาลสืบไปภายหน้า เนินดินที่หงส์ทองทั้งสองเล่นน้ำนี้จะกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นมหานครมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง และศาสนาของพระองค์จะเจริญรุ่งเรืองขึ้น ณ ที่นี้
ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว 100 ปี เนินดินกลางทะเลใหญ่นั้นก็ตื้นเขินขึ้นจนกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ มีพระราชบุตรของพระเจ้าเสนะคงคา ทรงพระนามว่าสมลกุมาร และวิมลกุมาร เป็นผู้รวบรวมไพร่พลตั้งเป็นเมืองขึ้น เป็นอันว่าเมืองหงสาวดี ซึ่งมอญเรียกว่า อองสาแวะตอย ได้เกิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองลงเล่นน้ำอยู่นั่นเอง
ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศแต่นั้นมา
คนมอญนั้นมีชีวิต จิตใจ และความเป็นอยู่ผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา จึงสร้างเสาหงส์ตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัด เป็นการแสดงว่าวัดนั้นเป็นวัดมอญ
หลวงพ่อขาวอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์ทอง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากหินสีขาว ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอก สูงประมาณ 2 ศอก ศิลปกรรมแบบมอญ ประดิษฐานที่หอสวดมนต์ วัดเจดีย์ทอง
เรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อขาว ครั้งหนึ่งพระภิกษุมอญชื่อว่า พระอมราภิกขุ ซึ่งบวชที่วัดเจดีย์ทองและเป็นเครือญาติของพระอาจารย์น้อย คุณสาโร เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ทองสมัยนั้น และได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า ขณะจะเดินทางกลับได้พบภิกษุนามว่า พระอาจารย์ต่วน เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฏร์ศรัทธากยาราม อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร และได้ไปพบร้านจำหน่ายพระพุทธรูปร้านหนึ่ง มีพระพุทธรูปหินขาวสวยงาม จึงได้บูชามา 2 องค์ นำมาประดิษฐานที่ วัดเจดีย์ทอง และ วัดราษฏร์ศรัทธากะยาราม
วัดเจดีย์ทอง เป็นวัดเก่าสะท้อนชุมชนมอญอพยพที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งที่น่าไปเที่ยวชม ในบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกหนึ่งบรรยากาศดีๆในการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมครับ
ขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป… สวัสดีครับ…แอดมินตั้ม
ช่องทางการติดตาม
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด