วัดเจ้าย่า อยุธยา ปริมณฑลดักสังหารท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศา… สวัสดีครับผมจะพาทุกท่านเดินทางตามรอยเรื่องราวที่มีความสำคัญมากที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นั่นคือการช่วงชิงอำนาจหรือการรัฐประหาร โดยการสังหารแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศา เพื่อการขึ้นครองพระราชสมบัติของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
วัดเจ้าย่าได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นปริมณฑลที่เชื่อได้ว่าเป็นจุดที่ล้อมดักสังหารท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาแล้วนำพระศพไปเสียบประจานที่วัดแร้ง ซึ่งห่างจากวัดเจ้าย่าไม่มากนัก
ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้กล่าวให้ความเห็นว่า มูลเหตุที่ทำให้เชื่อว่าบริเวณวัดเจ้าย่า เป็นจุดที่ดักจับตัวสังหารเพราะไม่มีจุดแยกของลำคลอง ทำให้การหลบหนีทำได้ลำบาก ถ้าเลยจากจุดนี้จะพบแยกคลองอีกหลายจุด ซึ่งมีโอกาสพลาดในแผนสังหารที่ได้เตรียมขึ้น
การวางแผนสังหารครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการวางแผนที่รัดกุมอย่างมาก โดยมีขุนพิเรนทรเทพซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นแม่ทัพในการดำเนินแผนนี้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นความลับที่สุดยอด จนทำให้ฝ่ายขุนวรวงศาและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ไม่ระแคะระคายเลยแม้แต่น้อย
ก่อนการวางแผนสังหาร ได้มีการเสี่ยงเทียนที่วัดป่าแก้ว (เชื่อว่าคือวัดใหญ่ชัยมงคล) เพื่อทำนายว่าแผนการนี้ใครจะมีบารมีมากกว่ากัน ระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและขุนวรวงศา ซึ่งผลการเสี่ยงเทียนออกมาว่า พระมหาจักรพรรดิมีบารมีมากกว่า จึงได้เกิดการวางแผนลับสุดยอดนี้
แผนการอันแยบยลมีการวางแผนโดยล่อลวงว่ามีช้างเผือกมาติดเพนียด ทำให้ขุนวรวงศาเสด็จมาทางเรือเข้าสู่คลองสระบัวเพื่อมาคล้องช้างเผือกเสริมบารมี แต่สุดท้ายนั่นคือจุดจบแห่งชีวิตเพราะเกิดการรัฐประหารผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน
สถานที่นี้จึงเป็นจุดประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ที่มีผู้คนให้ความสนใจ แต่น้อยคนจะได้เดินทางไปชมสถานที่จริง ซึ่งผมจะเป็นผู้พาไปชมเองครับ
ประวัติวัดเจ้าย่า (ตามป้ายกรมศิลปากร)
วัดเจ้าย่าตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านทิศเหนือ ริมฝั่งตะวันออกของคลองสระบัว ปัจจุบันวัดมีถนนตัดผ่านกลางวัด จึงแบ่งพื้นที่วัดออกเป็น 2 ส่วน มีเจดีย์ทรงระฆังเป็นประธานวัด ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานเป็นวิหาร และด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานเป็นอาคาร 2 ชั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก
วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานความเป็นมาในเอกสาร แต่จากการศึกษาทางโบราณคดีสรุปได้ว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นและถูกทิ้งร้างเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2310 และถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
จนกระทั่งมาถูกทิ้งร้างอีกครั้งราวสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะมีบทความโดยคุณเทพ สุขรัตนี นักโบราณคดี บันทึกการสัมภาษณ์ผู้คนในพื้นที่ และพิมพ์ในนิตยสารศิลปากร เมื่อปี 2505 ไว้ว่า วัดแห่งนี้เพิ่งถูกทิ้งร้างลงเมื่อราว 60 ปี ก่อน มีเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายชื่อ พระภิกษุสุด ส่วนชื่อวัดเจ้าย่า ไม่มีมูลเหตุของชื่อนี้
ถ้าจะนับจากปัจจุบัน ปีพ.ศ.2564 วัดเจ้าย่าก็เพิ่งร้างลงอีกครั้งเมื่อราว 100 กว่าปีมานี้เอง
ตึก สันนิษฐานไว้ใช้ทำพิธีกรรมหรือศาลาการเปรียญ
หอวิปัสสนามี 2 อาคารตั้งติดกัน สันนิษฐานว่ามีบันไดไม้เชื่อมต่อถึงกัน จากรูปแบบเป็นห้องที่มีขนาดเล็ก จึงสันนิษฐานว่าใช้เป็นสถานที่นั่งวิปัสสนากรรมฐาน
การเดินทางสามารถมามากันได้ง่ายจากวัดหน้าพระเมรุ อีกราวๆ 1 กิโลเมตรจะเห็นวัดอยู่ 2 ฟากถนน นั่นคือวัดเจ้าย่าครับ… ขอเชิญชวนทุกท่านเดินทางมาเรียนรู้เรื่องราวครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ยังสถานที่จริง แล้วท่านจะไม่ผิดหวังครับ… และท่านสามารถเดินทางให้ครบเรื่องราวในสถานที่เสียบประจานคือ โคกวัดแร้ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากจุดนี้ แต่เป็นป่ารกมากครับ (น่ากลัวด้วยนะ ขอบอก)
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ…
ช่องทางการติดตามเรื่องราว
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com