โคกหัวข้าว ชุมชนโบราณนับพันปี โบสถ์ดินโบราณและซากเจดีย์สมัยทวารวดี
สวัสดีครับท่านผู้ติดตามรักการท่องเที่ยวทุกท่าน วันน้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปชมแหล่งโบราณสถาน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่น่าจะเป็นสถานที่ Unseen อีกแห่งหนึ่งที่หลายคนไม่เคยรู้ นั่นก็คือ แหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ความน่าสนใจของแหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าวนี้คือ มีโบสถ์ดินโบราณอายุกว่า 100 ปี และแหล่งโบราณสถาน เนินดินสมัยทวารวดีอายุนับพันปี พบซากเจดีย์ที่จมใต้ดินสันนิษฐานอายุว่าอาจจะเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดฉะเชิงเทรา การเดินทางให้ไปตามถนนสายพนมสารคาม – กบินทร์บุรี(ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304) เลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้านโคกหัวข้าว ไปตามทางจะพบโบสถ์ดินโบราณแล้วให้ไปจอดรถบริเวณพื้นที่โบสถ์นั้นครับ ส่วนแหล่งโบราณคดีโคกหัวข้าว จะอยู่ถัดไปจากโบสถ์หลังนี้ราว 100 เมตร สามารถเดินไปชมได้ครับ จากการสอบถามและค้นหาข้อมูล ได้ระบุว่าโบสถ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดโคกหัวข้าวเดิม ส่วนของหลังคาสวยงามมากครับ โบสถ์ดินโบราณแห่งนี้ มีศิลปะสวยงามในส่วนของหลังคาและส่วนซุ้มหน้าต่างที่มีลายปูนปั้นหลงเหลืออยู่ แต่มีเพียงบานเดียว… ส่วนหน้าต่างบานอื่น ไม่พบร่องรอยของลายปูนปั้นอยู่เลย จึงเป็นเรื่องที่แปลกว่าทำไมสร้างตกแต่งเพียงจุดเดียว ผมใช้เวลาถ่ายรูปและชมสถานที่ราวๆ 30 นาที จึงเดินไปยังเนินทวารวดีซึ่งห่างจากโบสถ์นี้ราวๆ 100 เมตร เมื่อเดินมาถึงศาลปู่ตา จะสังเกตุเห็นว่า มีการจัดสถานที่ระบุว่าเป็นแหล่งโบราณคดีเนินทวารวดี ได้แก่ มีการก่อสร้างทางเดินไม้ไผ่ เพื่อความสะดวกในการเดินเข้าชมพื้นที่ บรรยากาศการเดินทางมีความเป็นท้องถิ่นมากๆครับ ตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้านโคกหัวข้าว มีการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ตลอดเส้นทาง จึงมีความร่มรื่นอย่างมาก จนมาถึงโบสถ์ดินโบราณจะผ่านทุ่งนาของชาวบ้านได้สัมผัสบรรยากาศท้องถิ่นอย่างเต็มๆเลยครับ ระหว่างทางจะมีร้านขนมของฝากตั้งอยู่ด้วย ท่านสามารถชมเพิ่มเติมได้ในคลิปวีดีโอ ที่ผมติดให้ชมด้านบนบทความนี้ เมื่อเดินมาถึงเนินทวารวดีโคกหัวข้าวแล้ว จะพบว่ามีร่องร่องการขุดสำรวจจากกรมศิลปากรแล้ว แต่ยังมีสภาพเป็นเพียงหลุมขุดเท่านั้น จะสังเกตุเห็นการเรียงอิฐของเจดีย์ที่จมอยู่ในหลุมที่ขุดสำรวจ จากการสังเกตุและค้นหาข้อมูลจากรายงานโบราณคดี พบว่ามีการเรียงอิฐขนาดใหญ่สอด้วยดิน เนื้ออิฐมีส่วนผสมของแกลบข้าว (เพื่อช่วยในการเผาอิฐ) การเรียงอิฐเป็นแบบ “เฟรมมิช” คือการเรียงอิฐด้านกว้างและด้านยาวไปตลอด พบเศษชิ้นส่วนโบราณวัตถุกระจายอยู่ทั้งแบบภาชนะกระเบื้องเคลือบและดินเผาทั่วไป… Read More »