พระพุทธบาทเขาประดู่ วัดเขาพระบาท ระยอง
https://youtu.be/4ICCBd6CtH8 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเดินทางไปไกลถึงจังหวัดระยอง และเช่นเดิมก่อนการเดินทางไปจังหวัดไหนๆก็ตาม จะต้องเตรียมหาข้อมูลการเดินทางเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการเดินทางครั้งนั้นๆ ผมได้เปิดดูหนังสือตามรอยพระพุทธบาท ของพระชัยวัฒน์ อชิโต ก็ได้รับทราบข้อมูลว่า มีวัดหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ และเป็นเพียงแห่งเดียวในจังหวัดระยอง และที่นั่นก็คือวัดเขาพระบาท ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง จากสถานที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองผมก็คิดว่าการเดินทางก็คงจะไม่ลำบากมาก จึงตั้งใจที่จะเดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาทที่นี่ให้ได้ การเดินทางถือว่าสะดวกมาก ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ให้มาเส้นมอเตอร์เวย์ ตรงเข้าจังหวัดระยอง จะผ่านห้างบิ๊กซีแล้วตรงมาเรื่อยๆ จนถึงสี่แยกบ้านแลงแล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร จะถึงทางแยกรุปตัว T แล้วเลี้ยวขวาตรงไปเรื่อยๆจะถึงวัดเขาพระบาท ซึ่งรอยพระพุทธบาทจะประดิษฐานในพระมณฑปอยู่บริเวณเชิงเขาขึ้นไปประมาณ 150 เมตร ลักษณะของรอยพระพุทธบาทมีขนาดกว้างประมาณ 11 นิ้ว ยาว 27 นิ้ว เป็นรอยลึกลงไปประมาณครึ่งนิ้ว ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทเขาประดู่ ในนิทานปรัมปรา ได้เล่ากันไว้ว่า ผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่บริเวณเชิงเขาเคยได้ยินเสียงมโหรีแว่วมาตามสายลม ในทุกๆวันพระ และมีผู้เล่าอีกว่า ในเวลาเช้าทุกวันพระจะได้เห็นพระภิกษุเดินออกมารับบิณฑบาตรจากชาวบ้านบริเวณเชิงเขา และเมื่อท่านรับบิณฑบาตรแล้ว ท่านก็จะเดินลับไปทางเชิงเขาโดยไม่มีใครรู้เลยว่าท่านมาจากไหน จนประมาณปี พ.ศ. 2514 มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาทำการปักกลดปฏิบัติธรรมบริเวณ “สำนักสงฆ์ตะเกราทอง” และชาวบ้านได้นำอาหารมาถวายเป็นประจำทุกเช้า ในวันหนึ่งพระธุดงค์รูปนั้นได้บอกกับชาวบ้านว่า “ต่อไปจะพบของดีที่ภูเขาลูกนั้น” จนกระทั่งได้มีผู้พบเห็นรอยพระพุทธบาทที่เขาประดู่ เนินเขาแห่งนี้มีแนวติดต่อกับเขาใหญ่ๆคือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับเขายายดาหรือเขาตะเภาคว่ำ (สำเภาคว่ำ) ทิศเหนือติดกับเขายอดแหลมในเทือกเขาท่าฉุด ลักษณะของรอยพระพุทธบาทจะเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายบ่ายไปทางทิศเหนือ ลักษณะตะแคงกับหินลาด ส่วนเรื่องราวของชื่อภูเขาแถบนี้ มีตำนานเล่าไว้ว่า ในอดีตมีพ่อค้าสำเภาบรรทุกสินค้ามาเลียบชายฝั่งทะเลจะเดินทางไปเมืองศรีวิชัย แต่ได้เกิดอุบัติเหตุ เรือสำเภาคว่ำและจมลงใกล้กับชายฝั่ง ลูกเรือได้พยายามว่ายหนีเข้าฝั่งและช่วยกันฉุดเรือสำเภา แต่ไม่สำเร็จต่อมาบริเวณนั้นได้กลายเป็นภูเขาจึงเรียกว่า “เขาตะเภาคว่ำ”… Read More »