วัดป่าวังน้ำเย็น อาคารไม้สัก อุโบสถไม้ตะเคียนทองใหญ่ที่สุดในไทย สวัสดีครับท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมทุกท่าน ผมได้มีโอกาสไปจังหวัดมหาสารคาม จึงได้รับการแนะนำให้เดินทางไปท่องเที่ยวยังวัดป่าวังน้ำเย็น ที่กล่าวกันว่ามีความสวยงามและจะเป็นจุดเช็คอินท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดมหาสารคาม ด้วยความงดงามของมหาธาตุเจดีย์ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่สร้างจากไม้สักและไม้ตะเคียนทอง ที่มีผู้ศรัทธามากมายร่วมกันบริจาค วันนี้ผมจึงจะพาทุกท่านเดินทางไปชมความงามของสถานที่แห่งนี้
เมื่อเข้ามาถึงบริเวณวัด ยังแลเห็นการก่อสร้างที่กำลังดำเนินการอีกหลายๆจุด โดยเฉพาะอุโบสถไม้ตะเคียนทองที่เป็นรูปร่างของทรงอาคาร ที่ใกล้แล้วเสร็จในอีกไม่นาน และด้วยการที่เป็นวัดสวย น่าท่องเที่ยวจึงมีร้านกาแฟที่มาตั้งให้บริการแก่นักท่องเที่ยวด้วยครับ
เมื่อเข้ามาถึงพื้นที่ ต้องบอกเลยว่าสิ่งปลูกสร้างในวัดทุกอย่างมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก แลเห็นมหาธาตุเจดีย์มาแต่ไกล เมื่อจะเข้าเขตวัด จะเห็นศาลาปฏิบัติธรรมที่สร้างจากไม้สักอย่างโดดเด่น และก่อนเข้าตัววัด จะเห็นอุโบสถไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามความศรัทธาที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคปัจจัยในการสร้างวัดแห่งนี้
วัดพุทธวนารามหรือวัดป่าวังน้ำเย็น ตั้งอยู่ที่ ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ และยกฐานะเป็นวัดอย่างถูกต้องเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 สักัดสงฆ์มหานิกาย โดยมีความเป็นมาสืบเนื่องมาจากก่อนปี พ.ศ.2549 ขณะที่พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดบูรพาเทพนิมิต อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย จ.นครพนม ทำให้ชาวจังหวัดมหาสารคามมีความเลื่อมใสศรัทธา ร่วมกันบริจาคที่ดินเพื่อให้พระอาจารย์สุริยันต์ได้สร้างวัด
พระอาจารย์สุริยันต์ จึงฉลองศรัทธานั้นด้วยการสร้างวัดตามความปรารถนาของผู้มีจิตศรัทธา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน สิ่งปลูกสร้างในปัจจุบันได้แก่ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีมหาสารคาม, ศาลาปฏิบัติธรรมไม้สัก, อุโบสถไม้ตะเคียนทองใหญ่ที่สุดในประเทศไทย, ศาลาไม้ตะเคียนทอง, ฆ้องยักษ์ เป็นต้น
การเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้ ได้เห็นถึงความศรัทธาต่อการสร้างวัดแห่งนี้เป็นอย่างมาก ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลกว่าจะสร้างได้มากมายขนาดนี้ และถือเป็นวัดท่องเที่ยวเช็คอินแห่งใหม่ของจังหวัดมหาสารคามอย่างเต็มภาคภูมิต่อไป
ขอขอบพระคุณการติดตามแล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไปครับ แอดมินตั้ม – Faiththaistory.com
ช่องทางการติดตาม
Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com
Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน