สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังวัดบางปลาหมอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นสถานที่จำพรรษาของหลวงพ่อสุ่น ซึ่งเป็นพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของพระที่มีชื่อเสียงสองรูปคือหลวงพ่อจง แห่งวัดหน้าต่างนอก และหลวงพ่อปาน แห่งวัดบางนมโค
ประวัติวัดบางปลาหมอ ไม่พบหลักฐานการบันทึก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือไม่ก็รัตนโกสินทร์ตอนต้น แม้แต่ประวัติของหลวงพ่อสุ่น ก็หาได้ยากไม่ค่อยพบการบันทึก มีเพียงแต่การเล่าปากต่อปาก ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ได้ตายจากไปจนหมด จึงมีเรื่องราวของหลวงพ่อสุ่นน้อยเหลือเกิน
ตามบันทึกของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ได้กล่าวว่า หลวงพ่อสุ่น เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อปาน แห่งวัดบางนมโคและหลวงพ่อจงวัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อสุ่นเป็นพระที่เรืองวิทยาคมและมีวิชารักษาโรค จึงได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่หลวงพ่อปานอีกด้วย
หลวงพ่อสุ่นละสังขารเมื่อไหร่ ไม่มีบันทึก แต่หลังจากที่หลวงพ่อสุ่นละสังขารไป วัดบางปลาหมอก็เงียบลงไปอย่างมาก จนบางครั้งแทบเป็นวัดร้าง
ผมได้เดินทางไปยังวัดบางปลาหมอ เมื่อปลายปี พ.ศ.2559 ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบางนมโคไม่มากนัก ต้องบอกว่าวัดมีบรรยากาศเงียบเหงาอย่างมาก แตกต่างจากวัดบางนมโคอย่างยิ่ง ในใจผมก็อยากจะให้วัดกลับมามีบรรยากาศเหมือนดั่งในอดีต ให้สมกับเป็นวัดพระอาจารย์ของหลวงพ่อปานและหลวงพ่อจง เช่นเดิม
แต่ผมก็เข้าใจว่าเป็นไปตามหลักสัจธรรม ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา ถ้าท่านผู้ฟังได้รับฟังกันในวันนี้ ก็อยากให้ลองไปเที่ยวชมบรรยากาศกันบ้างจะเป็นการดี อาจจะทำให้บรรยากาศกลับมาเหมือนเดิม
สุดท้าย ผมจึงขอนำบรรยากาศในวัดบางปลาหมอ มาให้ชมด้วย ซึ่งมีเพียงกลุ่มผมเท่านั้น บรรยากาศเงียบ เห็นเพียงสุนัข ที่คอยวิ่งมาต้อนรับ วิหารรูปหล่อหลวงพ่อสุ่นถูกล็อคเข้าไม่ได้ รวมถึงพระอุโบสถที่สวยงามด้วยประตูลายรดน้ำ ส่วนวิหารพระนอนสามารถเข้าไปกราบได้ครับ เรียนเชิญรับชมบรรยากาศกันเลยครับ
พุทธวิหารมงคลอุปถัมภ์ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ 2 องค์
ตามบันทึก หลวงพ่อสุ่น เป็นผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์มงคลชินวัฒน์ มีความยาว 5.19 เมตร และพระพุทธไสยาสน์มงคลสรรเพชญ มีความยาว 23.59 เมตร เมื่อปี พ.ศ.2420
พระอุโบสถถูกปิด เข้าไม่ได้ ได้ชมเพียงความสวยงามภายนอก
เรื่องราวพอสังเขป
หลวงพ่อสุ่นพระอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวัดบางปลาหมอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระผู้เป็นพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของ สองพระอาจารย์ชื่อดังคือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
หลวงพ่อสุ่นถึงแม้ชื่อเสียงท่านจะไม่โด่งดังเท่ากับลูกศิษย์ทั้ง 2 รูป แต่ในตัวหลวงพ่อเองจัดว่าเป็นพระอาจารย์ที่สำเร็จกรรมฐาน เป็นพระหมอยาที่มีชื่อเสียงมาก เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ ชาวอำเภอเสนา อำเภอบางบาล บางไทร และใกล้เคียงต่างก็เคารพรักศรัทธาในตัวท่านมาก
ประวัติหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอนั้น แทบจะหารายละเอียดไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะว่าสมัยท่านไม่มีใครบันทึกเรื่องราวเอาไว้ และผู้ที่พอจะรู้เรื่องของหลวงพ่อบ้างต่างก็เสียชีวิตกันหมดแล้ว จึงเป็นที่น่าเสียดายมากสำหรับชีวประวัติ เรื่องราวของพระอาจารย์ดังที่เก่งในด้านวิชาอาคมต่างๆ ไม่มีการเล่าขานให้กระจ่างชัดเท่าที่ควร
หลวงพ่อสุ่น เป็นสมภารปกครองวัดบางปลาหมออยู่นานพอสมควร อันว่าวัดบางปลาหมอนั้น ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยทางด้านทิศเหนือ อยู่ในท้องที่หมู่ 6 ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางบาลประมาณ 15 กิโลเมตร ใกล้กับค่ายสีกุกหรือวัดสีกุก ซึ่งครั้งหนึ่งในสมัยที่กรุงศรีอยุธยายังทำศึกกับพม่า พระเจ้าหงสาวดีได้แบ่งกำลังส่วนหนึ่งยกเข้ามาตั้งค่ายที่สีกุก เพื่อล้อมกรุงศรีอยุธยาเอาไว้แล้วเข้าโจมตีภายหลัง
เขตวัดบางปลาหมอขึ้นอยู่กับอำเภอบางบาล เป็นเขตแดนติดต่อกับตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดบางปลาหมอในอดีตเคยเป็นวัดที่รุ่งเรืองมาก่อน เพราะหลวงพ่อสุ่นท่านเป็นพระแก่กล้าทางวิทยาคมกอปรด้วยความเมตตา ท่านยังเป็นพระหมอช่วยผู้ที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยให้พ้นทุกข์เวทนา อีกทั้งท่านยังเป็นพระนักพัฒนาทำนุบำรุงเสนาสนะหมู่กุฏิสงฆ์ให้เจริญรุ่งเรืองทางถาวรวัตถุอีกด้วย เหตุนี้จึงมีผู้ให้ความเคารพนับถือท่านมาก นัยว่ามีเจ้านายจากกรุงเทพฯ เคยมาพักที่วัดให้ท่านรักษาโรคด้วย
วัดบางปลาหมอสร้างขึ้นเมื่อใดใครเป็นผู้สร้างไม่ปรากฏหลักฐาน สันนิษฐานว่าคงสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนที่ได้ชื่อว่า “วัดบางปลาหมอ” นั้น สมัยก่อนมักนิยมเรียกขานชื่อหมู่บ้านตามภูมิประเทศ และสิ่งแวดล้อมละแวกนั้น ที่หมู่บ้านบางปลาหมอเป็นพื้นที่ลาดลุ่มน้ำท่วมถึง เข้าใจว่าคงจะมีปลาหมอมากกว่าปลาชนิดอื่นๆ ชาว- บ้านจึงเรียกชื่อสภาพแวดล้อมตามที่เป็นอยู่ว่า “บ้านบางปลาหมอ”
มีผู้ใหญ่เล่าสืบต่อกันมาว่า “มีชาวบ้านบางปลาหมอทูลเกล้าฯ ถวายต้มปลาหมอแก่ในหลวงฯ” แต่ไม่ทราบว่ารัชกาลใด เมื่อมีการสร้างวัดขึ้นมา จึงใช้ชื่อตามหมู่บ้านเรียกขานกันว่า “วัดบางปลาหมอ” สภาพของวัดเริ่มแรกเข้าใจว่าพอจะเป็นที่บำเพ็ญกุศลในทางศาสนาได้เท่านั้น แล้วมาต่อเติมภายหลังจนเป็นวัดที่รุ่งเรืองมาทุกวันนี้
สำหรับหลวงพ่อสุ่นนั้นไม่ทราบว่าท่านมาจากไหน เพราะไม่มีหลักฐานหรือคำบอกเล่าปรากฏเลย และจากการลำดับเจ้าอาวาสของวัดเท่าที่ทราบ ก็มีหลวงพ่อสุ่นเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก แต่ก่อนหน้านี้จะมีเจ้าอาวาสก่อนหลวงพ่อสุ่นอีกหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ลำดับเจ้าอาวาสต่อจากหลวงพ่อสุ่นก็มีหลวงพ่อจ้อย, เจ้าอธิการเชื้อ, พระอธิการณรงค์, พระครูสิริพัฒนกิจ จากวัดโคกเสือ มารักษาการเจ้าอาวาสอยู่พักหนึ่ง สมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆรักษ์สงุ่น ต่อมาก็เป็นพระอธิการอู๋, พระครูโกวิทวิหารการ (ประยุทธ ชินวัฒน์) เป็นเจ้าอาวาสมาจนปัจจุบันนี้
หลวงพ่อสุ่น เป็นพระวิปัสสนากรรมฐานผู้ทรงอภิญญา มีวิชาอาคมไสยเวทย์เปี่ยมล้น นอกจากนี้ยังเป็นพระหมอรักษาไข้ ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่สาธุชนทั่วไปอีกด้วย ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสุ่น ที่ปรากฏและเล่าสืบต่อกันมามีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน จากบันทึกของ “พระราชพรหมญาณ” หรือ “หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” ลูกศิษย์รูปหนึ่งของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ได้บันทึกไว้ว่า “หลวงพ่อสุ่นเป็นพระอุปัชฌาย์หลวงพ่อปาน ครั้นหลวงพ่อปานบวชแล้วก็ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อสุ่น ที่วัดบาง- ปลาหมอ เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมต่างๆ จากพระอาจารย์ ซึ่งหลวงพ่อสุ่นเองก็รักใคร่ ในตัวของหลวงพ่อปาน ถ่ายทอดวิชาอาคม ต่างๆ ให้” หลวงพ่อปานนั้น มีความรักอยากจะเรียนทางหมอรักษาคนไข้ แต่หลวงพ่อสุ่นอยากให้ศิษย์รักรับวิชาอาคมต่างๆ เอาไว้ด้วย ดังนั้นการเรียนการสอนจึงมีทั้งไสยเวทย์และทางหมอยาควบคู่กันไปด้วย
หลวงพ่อสุ่นท่านสำเร็จทางด้านกสิณ ท่านก็ให้หลวงพ่อปานเรียนกสิณให้เรียนทางวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งหลวงพ่อปานท่านก็ตั้งใจมานะศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์จนสำเร็จอภิญญาได้กสิณต่างๆ จนครบ ทั้งวิปัสสนากรรมฐานท่านก็ได้มา การเรียนวิชาของหลวงพ่อปานใหม่ๆ นั้น หลวงพ่อสุ่นท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ไว้ให้ปรากฏหลายอย่างเช่น วันหนึ่งหลวงพ่อสุ่นท่านให้หลวงพ่อปานรดน้ำมนต์ให้คนไข้ หลวงพ่อปานเห็นน้ำมนต์ในตุ่มเหลือน้อยแล้ว ก็จะไปตักน้ำมาทำน้ำมนต์เพิ่มอีก หลวงพ่อสุ่ท่านก็ห้ามไว้ท่านบอกว่า “ไม่ต้องไปตักหรอกปานเอ๊ย พ่อตักไว้ให้แล้วรดไปเถอะ”
หลวงพ่อปานตักน้ำมนต์ในตุ่มรดคนไข้ ซึ่งหลวงพ่อปานเองมาเล่าให้ฟังภายหลังว่า วันนั้นรดน้ำมนต์ให้กับคนไข้ประมาณ 50 คน น้ำในตุ่มยังยุบไม่ถึงคืบ ตุ่มนั้นก็เป็นตุ่มเล็กๆ พอตอนหลังท่านไปถามหลวงพ่อสุ่นก็ได้รับคำ ตอบว่า “พ่อเอาใจตักแล้ว” จากนั้นท่านก็สอนวิชาใช้คาถาตักน้ำให้หลวงพ่อปาน ก็คือวิชาอาโปกสิณนั่นเอง
หลวงพ่อสุ่นเป็นพระที่มีวิชาอาคมสูงมาก ท่านจะตรวจดูด้วยญาณทิพย์ของท่านเสมอ ก่อนที่จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แล้วก็รักษาตามโรคนั้น ผู้ป่วยที่มาให้หลวงพ่อรักษาจะหายกลับไปทุกราย ยกเว้นผู้นั้นไปไม่ไหวถึงฆาตจริงๆ ก็ช่วยไม่ได้ ในเรื่องของอิทธิฤทธิ์ต่างๆ นั้น ท่านมักจะไม่ทำให้ผู้ใดเห็นเกรงว่าจะกลายเป็นพระผู้อวดคุณวิเศษไป นอกจากหลวงพ่อปานที่ขณะเรียนวิชาอยู่กับท่านเท่านั้น หลวงพ่อสุ่นอยู่วัดท่านก็ทำนุบำรุงซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ ไปเรื่อยๆ ต่อเติมสิ่งที่ชำรุดไปทีละอย่างสองอย่างตลอด
ปัจจัยที่ญาติโยมให้มาจากการรักษาโรคท่านก็นำมาซ่อมสร้างวัด จะปรากฏชัดเมื่อปลายๆ สมัยหลวงพ่อสุ่นประมาณปี พ.ศ.2403 ได้มีการก่อสร้างครั้งใหญ่อันมีหลวงพ่อสุ่น คณะสงฆ์ ทายกทายิกา ชาวบ้านต่างก็ร่วมมือกันทำนุบำรุงวางแผนผัง ก่อสร้างเสนาสนะภายในวัดต่างๆ กันใหม่ก็มีอุโบสถ มีลักษณะเป็นศิลปะแบบไทย ภายในมีภาพเขียนเรื่องราวประวัติของพระพุทธเจ้าฝีมือวิจิตรบรรจงสวยงาม ส่วนพระประธานพุทธลักษณะงดงาม ปัจจุบันทางวัดรื้อโบสถ์เก่าออก แล้วสร้างใหม่ขึ้นแทนเพราะของเก่าชำรุดทรุดโทรมเต็มที
วิหารพระพุทธไสยาสน์ อยู่หน้าอุโบสถ ศาลาการเปรียญเป็นเสาไม้แบบไทยๆ สร้างใหม่ของเดิมสร้างเมื่อ พ.ศ.2494 ประดิษฐานรูปปั้น “บรมครูแพทย์ชีวกโกมารทัต” ด้วย ในยุคของหลวงพ่อสุ่นนั้น นอกจากท่านจะช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ประชาชนทั่วไปแล้ว ท่านยังเป็นพระเถระผู้มีความสามารถในทางเทศนาอบรมสั่งสอนสาธุชนอีกด้วย ท่านจะขึ้นเทศน์บนศาลาการเปรียญ ชาวบ้านทั้งไกลและใกล้จะเดินทางมาฟังธรรมจากท่านเป็นจำนวนมาก และก็มาอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดก็ไม่ใช่น้อย
วัดบางปลาหมอสมัยนั้นรุ่งเรืองมีผู้คนเข้าออกวัดแต่ละวันเป็นจำนวนมาก มีทั้งไปปฏิบัติธรรมและไปรักษาไข้ หลวงพ่อสุ่นท่านละสังขารเมื่อปี พ.ศ. อะไรไม่ปรากฏแน่ชัด นับว่าเป็นการสูญเสียพระอาจารย์รูปสำคัญของชาวบ้านย่านบางปลาหมอเลยทีเดียว ครั้นเมื่อสิ้นหลวงพ่อสุ่นไปแล้ว พระอธิการรูปต่อๆ มาขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทนวัดบางปลาหมอก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนยุคของหลวงพ่อสุ่น บางระยะวัดแทบจะร้างไปเลยก็มี เสนาสนะต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมพังเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งท่านพระครูโกวิทวิหารการ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเข้ามารับหน้าที่แทน ท่านก็ระดมกำลังทั้งสติปัญญาและแรงกายบูรณะวัดให้ฟื้นขึ้นใหม่ จนกระทั่งวัดเข้ารูปรอยเดิมและรุ่งเรืองยิ่งกว่าเดิม
พระครูโกวิทวิหารการ เดิมชื่อประยุทธ ชินวัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 บิดาชื่อสุนทร มารดาชื่อนางขาวผ่อง ชินวัฒน์ เป็นชาวตำบลน้ำเต้า อุปสมบทเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2512 ที่วัดโคกเสือ ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มี พระครูอดุลวรวิทย์(พระอดุลธรรมวาที) วัดบางซ้ายใน ตำบลเต่าเล่า อำเภอบางซ้าย อยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิหารกิจจานุยุต วัดบางนมโคเป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระครูสิริพัฒนกิจ วัดโคกเสือ อำเภอเสนา เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูโกวิทวิหารการ เข้าศึกษาเล่าเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนวัดน้ำเต้า จนจบชั้น ประถมปีที่ 4 หลังจากนั้นก็อุปสมบทแล้วก็ศึกษาเล่าเรียนทางธรรมวินัย จนสอบได้นักธรรมโทเมื่อปี พ.ศ.2514 ที่สำนักเรียนวัดโคกเสือ ต่อมาปี พ.ศ.2519 ได้มารักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ และขึ้นเป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 เมื่อท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ก็พัฒนาวัดบางปลาหมอเป็นการใหญ่ จนทุกวันนี้วัดบางปลาหมอสวยงามเจริญรุ่งเรือง นับว่าท่านเป็นพระนักพัฒนาอีกรูปหนึ่ง ที่สามารถบูรณะวัดที่ชำรุดทรุดโทรมมากให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้
สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อสุ่นนั้น เท่าที่สอบถามและค้นพบมา ทราบว่าท่านได้ จัดสร้างพระเนื้อดิน 3 แบบคือ พิมพ์กลีบบัว,พิมพ์กลีบฟันปลา, พิมพ์กลีบบัวปลายแหลม เป็นพระที่หายากมาก ชาวบ้านบางปลาหมอให้ความนับถือ ใครมีต่างก็หวงแหนอย่างที่สุด เพราะมีประสบการณ์มากมายในเรื่องของความคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย คุ้มครองเคหะสถานบ้าช่อง เรื่องลมพายุนั้น เล่ากันว่าใครมีพระเครื่องของหลวงพ่อสุ่น สามารถป้องกันภัยจากลมพายุฝนฟ้าคะนองได้ดีเยี่ยม เรื่องแคล้วคลาดคงกระพันชาตรีก็ไม่เป็นรองใคร วัตถุมงคลของหลวงพ่อสุ่นนั้นมีคนรู้จักน้อยมาก เพราะชื่อเสียงท่านไม่ขจรขจายเป็นเพียงพระเกจิอาจารย์ดังในท้องถิ่น พระแต่ละรุ่นมีดังนี้
พระพิมพ์กลีบบัว เล่าว่าปี พ.ศ.2494 เจดีย์องค์หน้าโบสถ์หลังใหม่ สร้างสมัยหลวงพ่อสุ่นเกิดแตกร้าว กรุพระเครื่องเนื้อดินเผาที่หลวงพ่อสุ่นสร้างบรรจุไว้แตกออกมา ชาวบ้านพบเห็นเข้าจึงเก็บเอาไปมากบ้างน้อยบ้าง พอทางวัดทราบเรื่องกรุพระกลีบบัวแตกก็รีบไปเก็บมารักษาไว้ แต่ก็เหลืออยู่ไม่เท่าไหร่แล้ว ลักษณะของพระพิมพ์กลีบบัว เป็นทรงแบบกลีบบัว เนื้อพระสีแดง แบบพระเนื้อดินเผาทั่วไป กับอีกสีหนึ่งคือสีดำเนื้อละเอียด พุทธลักษณะด้านหน้าเป็นองค์พระปฏิมานั่งปางสมาธิเพชร พระพักตร์กลม ไม่มีพระเนตรและพระโอษฐ์ ลักษณะลำพระองค์กลมหนา พระชานุ(เข่า) โตทั้งสองข้าง ไม่มีอาสนะเนื้อพระแห้งสนิทอัดแน่น
พระพิมพ์กลีบบัวฟันปลา กรุแตกออกมาเมื่อครั้งที่พระครูโกวิทวิหารการ เจ้าอาวาสทำการรื้อวิหารพระพุทธไสยาสน์องค์เล็กที่ชำรุดทรุดโทรมสมัยหลวงพ่อสุ่นสร้างไว้ ทางวัดต้องการบริเวณที่ดังกล่าวสร้างฌาปนสถาน เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2528 ปรากฏว่าพบพระพิมพ์กลีบบัวฟันปลา บรรจุอยู่ในตุ่มใบเล็กๆ ตรงช่วงหมอนรองรับพระเศียรของพระพุทธไสยาสน์ในตุ่มมีพระ อยู่ 300 องค์เท่านั้น ท่านเจ้าอาวาสจึงเอาออกมาให้แก่ผู้ที่มาขอบูชา รายได้ทั้งหมดนำไปตั้งเป็นกองทุน “มูลนิธิหลวงพ่อสุ่น” และพระก็หมดไปเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
ลักษณะพระพิมพ์กลีบบัวฟันปลานี้คล้ายกับพิมพ์กลีบบัว แต่ด้านบนสุดจะป้านไม่แหลมเหมือนกลีบบัว เรียกว่าไม่ได้ตัดกรอบพิมพ์นั่นเอง ฐานล่างใต้อาสนะเป็นกลีบบัวเล็กๆ สลับกัน องค์พระอวบหนา พระชานุโต(เข่า) พระพิมพ์กลีบบัวปลายแหลม คล้ายพิมพ์กลีบบัวเนื้อพระออกแห้ง สีนั้นบางองค์ออกแดงออกเหลืองบางองค์ก็มีดำแทรกเนื่องจาก เวลาเผาพระสุดแล้วแต่ว่าองค์ไหนจะอยู่ใกล้ไกลไฟเผามากน้อยแค่ไหน พระจะปรากฎคราบกรุจากดินปลวกบ้างประปราย แต่บางองค์ก็ไม่มี นอกจากพระเนื้อดินที่หลวงพ่อสุ่นจัดสร้างขึ้นมาแล้ว ทางวัดบางปลาหมอยังได้จัดทำเหรียญของหลวงพ่อสุ่นออกมาอีกหลายรุ่น เหรียญรุ่นแรกทำเมื่อปี พ.ศ.2508 เป็น เหรียญเสมาหลวงพ่อสุ่นเนื้อทองแดงเหรียญนี้
ท่านพระครูสิริพัฒนกิจ วัดโคกเสือสมัยที่มารักษาการเจ้าอาวาส ตอนนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆรักษ์สงุ่น เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นมา มีเนื้อเงินกับเนื้อทองแดง ต่อมาปี พ.ศ.2520 เมื่อ ครั้งที่พระครูโกวิทวิหารการ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส วัดบางปลาหมอ อย่างเป็นทางการ ท่านก็ได้จัดสร้างเหรียญเสมาเนื้อทองแดงขึ้นมาเป็นที่ระลึก ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อสุ่นนั่งเต็มตัว ด้านหลังเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นเหรียญสองหน้าสวยงามมาก
ในปี พ.ศ.2526 ทางวัดจัดสร้างเหรียญขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง เป็นเหรียญที่ระลึกหารายได้ บูรณะซ่อมแซมพระพุทธไสยาสน์ เป็นเหรียญอาร์มเนื้อทองแดง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อสุ่น ครึ่งองค์ด้านหลังเป็นยันต์ระบุวันที่จัดสร้าง 13 พฤศจิกายน 2526
ปีพ.ศ. 2532 จัดสร้างรูปหล่อหลวงพ่อสุ่น เนื้อทองแดงหน้าตัก 5 นิ้ว และรูปหล่อชุด 3 คณาจารย์มีหลวงพ่อจง หลวงพ่อสุ่น และหลวงพ่อปาน นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อลอยองค์เล็ก เนื้อเงินแท้กับเนื้อทองแดง และเหรียญ 5 เหลี่ยมเนื้อทองแดงอีก 1 ชุด วัตถุมงคลที่กล่าวมาทั้งหมดขณะนี้แทบไม่มีแล้ว โดยเฉพาะพระเนื้อดินหายากมาก ใครพบเห็นที่ไหนเก็บไว้ให้ดีๆ เถิด จะเป็นสิริมงคล แก่ตนเองยิ่งนัก
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory