Faiththaistory.com

ตามรอยหาสมบัติ วัดพระยาไกร วัดร้างและสาบสูญสู่ศูนย์การค้าเอเชียทีค

YouTube Poster

หลายท่านคงทราบว่า เอเชียทีค ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ เคยเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่ง ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นก็คือ “วัดพระยาไกร” ปัจจุบันได้กลายเป็นวัดที่สาบสูญ หลงเหลือเพียงชื่อ สถานที่ต่างๆ เช่น แขวงวัดพระยาไกร ชุมชนตลาดเก่าวัดพระยาไกร และสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร

เอเชียทีค บนพื้นที่วัดพระยาไกรเดิม

สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร

ความทรงจำในอดีต ได้สะท้อนให้เห็นที่หน้าสถานีตำรวจ มีการจำลองพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่เคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดพระยาไกรไว้อีกด้วย

พระพุทธรูปที่จำลองแบบจากวัดพระยาไกร ประดิษฐานไว้หน้าสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร

จากหนังสือถนนเจริญกรุง ได้อธิบายเรื่องราววัดพระยาไกรไว้ว่า มีอีกชื่อหนึ่งคือ “วัดโชตนาราม” ด้วยเหตุที่ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) เป็นผู้สร้าง โดยตั้งใจจะถวายเป็นวัดหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังได้รับพระราชทานราชทินนามที่ “พระยาไกรโกษา” วัดแห่งนี้จึงเรียกอีกชื่อว่า “วัดพระยาไกร”

หนังสือถนนเจริญกรุง

ความรับรู้เรื่องราวในอดีต เกี่ยวกับวัดพระยาไกร ได้สะท้อนความงดงามผ่านพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้กล่าวในหนังสือราชการตอนหนึ่งว่า

“…ส่วนวัดโชตนารามนั้น พระยาไกรผู้สร้างได้ทำเป็นการใหญ่โต ฝีมือประณีต บรรจงเลียนแบบอารามหลวง เหลือที่คนภายหลังจะซ่อมรักษาไว้ได้ และอยู่ในหมู่การค้าของคนต่างประเทศด้วย…”

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

 พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของวัดพระยาไกรว่า

“… วัดนี้ขณะยังไม่ร้าง มีโบสถ์สูงตระหง่านกว่าวัดอื่นๆ ในละแวกนั้น เรือที่ผ่านตามลำน้ำเจ้าพระยามาย่านนี้ จะเห็นหลังคาโบสถ์มาแต่ไกล…”

เอเชียทีค บนพื้นที่วัดพระยาไกรเดิม

ทุกสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรคงทนถาวร และวัดพระยาไกรก็เช่นกัน ภายหลังที่ผู้สร้างวัดถึงแก่กรรม ก็ไม่มีทายาทที่พอจะมีกำลังในการดูแลรักษา ประกอบกับวัดยังไม่ได้รับเข้าเป็นพระอารามหลวง เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรุดโทรมหนัก และมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหลวงอีกด้วย

บริษัทอีสต์ เอเชียติค ใช้อุโบสถเป็นสำนักงาน

จนกระทั่งปี 2440 ทางราชการจึงให้สิทธิ์เช่าพื้นที่วัดพระยาไกร แก่บริษัทอีสต์ เอเชียติค เพื่อใช้เป็นอู่ต่อเรือ โรงเลื่อย โบสถ์วิหารถูกใช้เป็นสำนักงานและคลังสินค้า ตามภาพเก่าที่เราได้เห็น และหลังจากนั้นวัดพระยาไกรก็ถึงกาลสิ้นสูญ นับแต่นั้นมา

บริษัทอีสต์ เอเชียติค เช่าพื้นที่วัดพระยาไกรเป็นท่าเรือ

แม้ว่าวัดพระยาไกรจะสาบสูญไป แต่ความทรงจำในอดีตได้ถ่ายทอดมาสู่รุ่นต่อรุ่น และสมบัติล้ำค้าหลายชิ้นของวัดพระยาไกร ก็ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปสถานที่ต่างๆ เราจะออกตามหาสมบัติวัดพระยาไกร ที่ยังพอมีหลักฐานหลงเหลือในปัจจุบัน

สมาชิกผู้ร่วมเดินทางตามหาสมบัติวัดพระยาไกร (ไกด์พี่แดงเป็นวิทยากร)

สถานที่แรกนั่นก็คือ วัดสุทธิวราราม เราได้ไปรวมกันที่อุโบสถ วัดสุทธิวาราม โดยมีท่านเจ้าคุณพระสุธีรัตนบัณฑิต ได้เมตตาเล่าเรื่องราวในอดีตของวัดสุทธิวรารามให้รับฟัง

พระสุธีรัตนบัณฑิต บรรยายอดีตวัดสุทธิวราราม

วัดสุทธิวราราม สันนิษฐานว่าจะมีการตั้งวัดมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยพระยานครศรีธรรมราช เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวลาวเวียง ที่ถูกกวาดต้นมาจากกรุงเวียงจันทน์ มาอาศัยอยู่ใกล้วัด คนทั่วไปจึงเรียกว่า “วัดลาว”

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดเพลิงไหม้ จึงย้ายวัดมาสร้างที่ป่าช้าวัด ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกมาเล็กน้อย ซึ่งคือสถานที่ตั้งวัดปัจจุบัน และคงถูกทิ้งร้างในช่วงเวลาหนึ่ง

ต่อมาปี พ.ศ.2424 ท่านผู้หญิงสุทธิ์ ภริยาเจ้าพระยาวิเชียรคีรี ได้ขอพระบรมราชานุญาตสร้างวัดขึ้นใหม่ จึงได้รับพระราชทานนามว่า “วัดสุทธิวราราม”

พระประธานในอุโบสถวัดสุทธิวราราม ที่อัญเชิญมาจากวัดพระยาไกร

และในครั้งนั้นนั่นเอง ที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำริดองค์เล็ก ที่ประดิษฐานหน้าวิหารวัดพระยาไกร ที่มีสภาพใกล้ร้าง มาเป็นองค์พระประธานในอุโบสถวัดสุทธิวรารามจนถึงทุกวันนี้

การเดินทางตามหาสมบัติวัดพระยาไกรแห่งต่อไปคือ วัดไผ่เงินโชตนาราม และวัดไตรมิตรวิทยาราม เราออกเดินทางไปยังวัดไผ่เงินโชตนาราม ตั้งอยู่ที่แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

บรรยากาศผู้คนเดินทางไปกราบสักการะหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดไผ่เงินโชตนาราม

เมื่อครั้งวัดพระยาไกรแปรสภาพเป็นวัดร้าง จึงต้องมีการย้ายพระพุทธรูปไปยังวัดอื่น โดยวัดไผ่เงินโชตนารามได้อัญเชิญพระพุทธรูปประธานในอุโบสถไปประดิษฐานก่อน ต่อมาวัดไตรมิตร จึงอัญเชิญพระพุทธรูปในวิหารซึ่งมีปูนปั้นพอกทับไปในภายหลัง

หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดไผ่เงินโชตนาราม ที่อัญเชิญมาจากวัดพระยาไกร

เราเดินเข้าไปภายในวิหารหลวงพ่อสัมฤทธิ์ เพื่อกราบสักการะพระพุทธรูปสำคัญที่เคยอยู่ที่วัดพระยาไกร เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ลักษณะพุทธศิลป์เป็นแบบสุโขทัย สร้างจากเนื้อทองสำริดทั้งองค์ เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในพื้นที่ เราจึงเห็นผู้คนเดินทางมากราบสักการะอย่างไม่ขาดสาย

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร(หลวงพ่อทองคำ) วัดไตรมิตรวิทยาราม ที่อัญเชิญมาจากวัดพระยาไกร

ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการสร้างและฟื้นฟูราชธานีใหม่ จึงมีการสร้างและบูรณะวัดวาอารามในพระนครหลายแห่ง รวมถึงมีการอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณที่ถูกทิ้งร้างตามหัวเมืองเหนือ ล่องเรือมาประดิษฐานยังวัดต่างๆในพระนคร

ภาพจำลองการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือมายังพระนคร ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ซึ่งพระพุทธรูปทองคำที่มีปูนพอกทับก็เป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่ง ที่อัญเชิญมายังวัดพระยาไกร ต่อมาวัดพระยาไกรได้ร้างลง จึงได้อัญเชิญเคลื่อนย้ายมายังวัดไตรมิตร และเมื่อทำการเคลื่อนย้ายองค์พระขึ้นพระวิหาร 3ได้เกิดอุบัติเหตุทำให้ปูนภายนอกองค์พระกะเทาะออก ทำให้เห็นเนื้อภายในเป็นโลหะทองคำทั้งองค์ และเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักถึง 5.5 ตัน

ภาพจำลองการเคลื่อยย้ายหลวงพ่อทองคำจากวัดพระยาไกร มายังวัดไตมิตรฯ (ถ่ายภาพมาจากพิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตรฯ)

หลังจากได้สักการะหลวงพ่อทองคำที่วัดไตรมิตรแล้ว เราออกเดินทางไปยังวัดปรินายกวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นวัดเล็กๆ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเจ้าพระยาบดินทรเดเชา (สิงห์ สิงหเสณี)

เจ้าพระยาบดินทรเดเชา (สิงห์ สิงหเสณี) ผู้สร้างวัดปรินายก

จากรูปภาพเก่า วัดพระยาไกรเมื่อครั้งอดีต เราจะเห็นซุ้มใบเสมาหินขนาดใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาไว้ยังวัดปรินายกแห่งนี้ จึงเป็นสมบัติอีกชุดหนึ่งของวัดพระยาไกรที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพเก่าวัดพระยาไกร ที่ยังเห็นซุ้มใบเสมา

ซุ้มใบเสมาที่วัดปรินายกวรวิหาร

ต่อจากวัดปรินายกวรวิหาร เราเดินทางไปยังวัดเบญจมบพิตร เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง ที่มีการจำลองแบบพระพุทธชินราชไว้ที่วัดแห่งนี้

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

พระพุทธชินราชจำลอง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ที่วัดเบญจมบพิตร จะมีระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่โดยรอบ หนึ่งในนั้นจะมีพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากวัดพระยาไกรอยู่หนึ่งองค์ ที่มีพุทธศิลป์แบบสุโขทัย

พระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากวัดพระยาไกร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

และที่วัดเบญจบพิตร ก็เป็นแห่งสุดท้ายที่เราได้เดินทางตามรอยหาสมบัติจากวัดพระยาไกร ตามหลักฐานที่หลงเหลือในปัจจุบันนี้ครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ / แอดมินลุงตั้ม (ยุทธนา ผิวขม)

ช่องทางการติดตาม

Facebook : เพจภารกิจเที่ยววัด

YouTube : FaithThaiStory

TikTok : FaithThaiStory

Exit mobile version