สวัสดีครับท่านผู้ติดตามเรื่องราวการเดินทางตามรอยความศรัทธาทุกท่าน ผมจะพาทุกท่านเดินทางตามรอยความศรัทธาต่อหลวงพ่อกรัก วัดอัมพวัน จ.ลพบุรี ซึ่งท่านเป็นพระเกจิเชื้อสายมอญรามัญชื่อดังในอดีตแห่งลุ่มแม่น้ำลพบุรี และเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อสายแห่งวัดพยัคฆารามหรือวัดเสือ เมืองลพบุรีอีกด้วย
การเดินทางครั้งนี้ ผมเดินทางเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2560 เพื่อบันทึกเรื่องราวครั้งนี้
วัดอัมพวัน ตั้งอยู่ที่ ต.บางขันหมาก อ.เมือง จ.ลพบุรี แต่เดิมทางเข้าวัดจะเป็นท่าน้ำที่ริมแม่น้ำลพบุรี ต่อมาการเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น จึงมีเส้นทางทางบก เป็นเส้นทางหลักมาที่วัด
ประวัติหลวงพ่อกรัก พอสังเขป
หลวงพ่อกรัก ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2398 ที่บ้านบางขันหมาก โยมบิดาและมารดามีเชื้อสายมอญรามัญ หลวงพ่อกรักท่านบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดอัมพวันเมื่อปี พ.ศ. 2418 และต่อมาก็ได้อุปสมบทที่วัดอัมพวัน ได้รับนามฉายาว่า “สุวัณณสาโร”
หลวงพ่อกรัก ท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติ ฉันอาหารมื้อเดียว ถือสันโดษ นิยมกิจแห่งธุดงควัตร ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนมีบารมีทางกระแสจิตแก่กล้า ได้รับความศรัทธาจากญาติโยมทั้งใกล้และไกล บรรดาชาวรามัญในย่านบางขันหมาก เคารพศรัทธาเลื่อมใสในกิตติคุณความดีของหลวงพ่อกรัก
โดยเฉพาะบรรดาหนุ่มๆ เชื้อสายรามัญในเมืองลพบุรีจะนิยมมานิมนต์หลวงพ่อกรักไปเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้ หลวงพ่อกรัก ท่านก็ไม่เคยขัดศรัทธาใคร ไม่ว่ามอญหรือไทยถ้ามานิมนต์ท่านจะไปตามนิมนต์นั้น
หลวงพ่อกรัก นอกจากท่านจะเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ทางด้านวิทยาคมนั้นนับว่าหลวงพ่อกรัก ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของลพบุรี เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อกรัก ท่านมีความขลังในด้านลงกระหม่อมด้วยขมิ้นชัน ขนาดถูกตีจนหัวน่วมก็ไม่แตก
เมื่อวันพุธ แรม 7 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม พ.ศ. 2486 ซึ่งตรงกับวันพิธีตักบาตรเทโว เช้าวันนั้นหลวงพ่อกรักนั่งเรือไปรับบาตรจากชาวบ้านเป็นปกติ แต่พอตกเย็นท่านมีอาการอาพาธอย่างกระทันหัน แม้ชาวบ้านและลูกศิษย์จะพยายามอุปัฏฐากท่านอย่างเต็มที่ แต่ท่านก็ได้มรณภาพลงในวันนั้น สิริอายุได้ 91 ปี พรรษาที่ 70
เมื่อผมเดินทางมาถึงวัดอัมพวัน จึงได้เดินไปยังท่าน้ำวัดเป็นอันดับแรก ได้เห็นบรรยากาศให้ได้หวลนึกจินตนาการถึงอดีตว่าคงมีความสวยงามทางวัฒนธรรมที่ดีเยี่ยมแห่งหนึ่ง ระหว่างที่เดินผ่านชาวบ้าน ก็ได้ยินการสนทนาในภาษาที่ไม่คุ้นเคยซึ่งคงเป็นภาษามอญ ที่ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี
หลังจากพักที่ศาลาท่าน้ำได้สักพักใหญ่ๆ จึงเดินมาด้านหน้าวัด เพื่อเก็บภาพบรรยากาศต่างๆ
ที่ลานหน้าวัดจะประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีขาว และมีเสาธงสัญลักษณ์วัฒนธรรมมอญ
เท่าที่ผมสัมผัสบรรยากาศ เห็นสัญลักษณ์ต่างๆ รวมถึงภาษาของชาวบ้านในท้องถิ่น รวมถึงนิทรรศการความรู้มากมายในวัด จึงรู้สึกได้ว่าชุมชนบ้านบางขันหมากนี้ มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง
จากนั้นทีมนักเดินทาง ได้เดินไปยังพระอุโบสถ
พระอุโบสถ วัดอัมพวัน เป็นพระอุโบสถขนาดเล็กๆ ก่ออิฐถือปูนมีประตูทางเข้า 2 ประตู ทางเข้าพระอุโบสถมีบันไดนาคปูนปั้นมีกำแพงแก้วเตี้ยๆล้อมรอบ มีซุ้มประตูเข้าเขตพระอุโบสถ 2 ด้านคือด้านหน้าและฝั่งซ้าย ด้านหลังพระอุโบสถมีพระเจดีย์แบบมอญรามัญ 1 องค์
ด้านข้างฝั่งขวามีศาลาพัก และอัฐิเจดีย์ชาวบ้านในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
หลังจากชมบรรยากาศและถ่ายรูปสถานที่บริเวณพระอุโบสถแล้ว จึงออกมาที่ศาลาบูรพาจารย์ ซึ่งมีรูปหล่อหลวงพ่อกรักและหลวงพ่อสว่างอยู่ด้านใน
เนื่องจากว่าที่ศาลาบูรพาจารย์ได้ถูกล็อคไว้ จึงไม่สามารถเข้าไปถ่ายรูปด้านในได้และทุกๆปี จะมีการแห่รูปหล่อหลวงพ่อกรักเป็นประเพณีประจำปีของวัดอัมพวัน
ความศรัทธาหลวงพ่อกรัก ก่อเกิดประเพณีแห่รูปถ่ายหลวงพ่อกรัก
สมัยที่หลวงพ่อกรักชราภาพมาก เหล่าคณะศิษย์จึงมีมติที่จะถ่ายรูปท่านเก็บไว้เป็นที่ระลึกและกราบไหว้บูชา จึงได้นิมนต์ท่านไปถ่ายรูปที่ร้านอมรศิลป์ในตัวเมืองลพบุรี เมื่อถึงกำหนดรับรูป คณะศิษย์จึงไปรับรูปโดยนั่งเรือไปรับเพราะรูปถ่ายมีขนาดใหญ่มาก จึงต้องวางตั้งไว้กลางลำเรือแล้วเดินทางกลับวัด
ระหว่างเดินทางกลับ เหล่าชาวบ้านได้เห็น ต่างก็พากันกราบไหว้บูชาตลอดเส้นทางนำ เหล่าลูกศิษย์เห็นดังนั้น ก็เกิดความปลื้มปิติ จึงได้จัดพิธีแห่รูปถ่ายหลวงพ่อกรักเรื่อยมาเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดให้วันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกๆปี เป็นวันแห่รูปหลวงพ่อกรักทางเรือ และวันรุ่งขึ้น คือวันแรม 7 ค่ำ เดือน 11 ให้เป็นวันตักบาตรเทโว
การหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อกรักและใช้แห่แทนรูปถ่ายจนถึงปัจจุบัน
พระอาจารย์ฉัว อดีตเจ้าอาวาสวัดมะปรางหวาน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สัทธิวิหาริกของหลวงพ่อกรัก (หลวงพ่อกรักเป็นพระอุปัชฌาย์ให้พระอาจารย์ฉัว)ได้จัดสร้างรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่ขึ้น โดยท่านได้นำช่างปั้นมาปั้นรูปเหมือนหลวงปู่ขณะมีชีวิตอยู่ หลวงปู่นั่งเป็นแบบให้ช่างปั้น รูปปั้นมีขนาดเท่าองค์จริงและหล่อด้วยเนื้อสำริด เมื่อปี พ.ศ. 2485 เป็นรูปหล่อที่มีลักษณะเหมือนหลวงปู่มากที่สุดราวกับว่าเป็นองค์ท่านจริง ๆ และได้ใช้รูปหล่อนี้แห่ทางเรือแทนรูปถ่ายหลวงพ่อกรักจนถึงทุกวันนี้
ในปัจจุบันการคมนาคมเปลี่ยนไป ทางวัดได้ทำการแห่หลวงปู่ทางบกแทน โดยระยะทางคือออกจากวัดอัมพวันแห่รอบหมู่บ้านบางขันหมากไปถึงวัดสิงห์ทอง ออกถนนสายลพบุร-สิงห์บุรี และเข้าสู่ตัวเมืองลพบุรีกลับสู่วัดอัมพวัน มีประชาชน ชาวบ้าน ศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศมาร่วมขบวนแห่นับพันนับหมื่นและมีโรงทานเลี้ยงตลอดเส้นทางที่แห่ ซึ่งตรงกับวันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีและวันแรม 7 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันตักบาตรเทโวหรือตักบาตรพระร้อย
ในระหว่างที่เดินชมและถ่ายรูปวัด จึงได้มีโอกาสสนทนาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับวัดอัมพวันรวมถึงประเพณีประจำปี จากผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้ข้อมูลมากมาย รวมถึงกำหนดวันงานในปี พ.ศ.2560 นี้ด้วย ท่านผู้อ่านสามารถชมคลิปบรรยากาศที่ผมสนทนาและพาเที่ยววัดได้บนยูทูปที่ผมติดไว้ให้ด้านบนนะครับ
ประวัติวัดอัมพวัน และตำนานพอสังเขป
วัดอัมพวัน ตั้งอยู่เลขที่ 91 หมู่ 1 ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2415 ได้รับพระราชทานวิสุง คามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2420
ตามตำนานกล่าวว่า กรมช้างซึ่งอยู่ภายในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ได้ให้ควาญช้างนำช้างประมาณ 10 เชือกไปเลี้ยงที่ป่าบริเวณใกล้คลองตาสา (คลองข้างพระอุโบสถวัดกลางในปัจจุบัน) ต่อมามีช้างเชือกหนึ่งล้มตายลง กรมช้างจึงได้ขายช้างเชือกที่ตายไปแล้วได้เงินมา 30 ตำลึง จึงนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินซึ่งเป็นสวนมะม่วงของชาวบ้าน และได้พร้อมใจกันสร้างวัดเพื่ออุทิศบุญส่วนกุศลให้กับช้างเชือกนั้น จึงเรียกว่า วัดอัมพวัน ซึ่งแปลว่าป่ามะม่วง
นอกจากชื่อชื่อวัดอัมพวันแล้ว ในอดีตก็ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ ได้แก่
วัดค้างคาว เนื่องจากว่าในอดีตที่วัดมีค้างคาวแม่ไก่อาศัยรอบบริเวณวัดเป็นจำนวน ต่อมาค้างคาวแม่ไก่ไปด้อพยพไปอยู่ที่อื่น
วัดสุด เนื่องจากเรียกตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของวัดอัมพวัน ชาวมอญบางขันหมากมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก จึงนิยมสร้างวัดเพื่อเป็นแหล่งสืบสานวัฒนธรรมและการศึกษาของบุตรหลาน ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างวัดในชุมชนถึง 4 วัดได้แก่ วัดโพธิ์ระหัต วัดกลาง วัดอัมพวัน และวัดราชศรัทธาธรรม
วัดอัมพวันมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใต้สุดของตำบลบางขันหมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดสุดตามตำแหน่งที่ตั้งนั่นเอง
วัดสุสาน เพราะในครั้งหนึ่งวัดอัมพวันแบ่งแยกเป็น 2 คณะ และมีการปลูกสร้างกุฏิสงฆ์ห่างไกลกันมาก มีป่ารกทึบคั่นกลางดูเสมือนเป็น 2 วัด โดยชาวบ้านเรียกวัดที่ติดริมแม่น้ำลพบุรีว่า วัดอัมพวัน และวัดที่ถัดเข้าไปติดป่าช้าว่า วัดสุสานโดยมีกุฏิพระอาจารย์แจะอยู่ด้านใน
ต่อมาภายหลัง หลวงพ่อสว่างเจ้าอาวาสรูปถัดจากหลวงพ่อกรักได้ทำการรวมวัดเป็นวัดเดียวกัน โดยสร้างหอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ เขตสังฆาวาสให้อยู่กึ่งกลาง จนถึงปัจจุบัน
วัตถุมคลหลวงพ่อกรัก
ด้วยความศรัทธาของชาวบ้าน หลวงพ่อกรักได้เมตตาสร้างวัตถุมงคลให้เป็นกำลังต่อชาวบ้านไว้เช่นกัน ซึ่งมีวัตุมงคลยอดนิยม คือ ตะกรุด ผ้ายันต์สีแดง และเหรียญ 2 รุ่น
เหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ.2469 เป็นเหรียญปั้มรูปเหมือนเต็มองค์ มีทั้งเหรียญรูปไข่และเหรียญกลม
ด้านหลังจะลงด้วยคาถา ทุ สะ นิ มะ คือย่อมาจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อให้มีความหมายถึงการสั่งสอนศิษย์ให้รู้ว่าทุกข์คือการไม่สบายใจและกาย สมุทัยคือ ต้นเหตุแห่งการเกิดทุกข์ ได้แก่กิเลสตัณหาต่างๆ นิโรธคือ แนว ทางที่จะปฏิบัติให้ดับทุกข์ มรรคคือ วัตรปฏิบัติเพื่อจะมุ่งพระนิพพานอย่างแท้จริง คาถาล้อมรอบในกลีบดอกบัวก็คือ มะอะอุ อะอุมะ อุมะอะ สลับกลับไปกลับมา ส่วนที่ด้านหน้า ระบุปี พ.ศ. 2469 และคำว่า พระอุปัชฌากรัก
เหรียญรุ่นที่สอง สร้างขึ้นปี พ.ศ.2478 ทำรูปทรงคล้ายเหรียญกลมแบบรุ่นแรก โดยหลวงตากราว ซึ่งเป็นหลานของท่านเป็นผู้สร้างให้พระอุปัชฌาย์กรัก ท่านปลุกเสก
บทส่งท้าย
บรรยากาศของวัดโดยรวมมีความสงบตามแบบวัดในชนบท ติดริมน้ำลพบุรีให้ได้จินตนาการถึงเรื่องราวในอดีต และได้สัมผัสถึงความเคารพศรัทธาต่อหลวงพ่อกรักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่วัฒนธรรมของชุมชนเชื้อสายมอญรามัญ แห่งบ้านบางขันหมากยังคงเข้มแข็งตั้งแต่แต่อดีต จนถึงปัจจุบัน
โดยส่วนตัวผมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศดีๆของวัดอัมพวัน และจะหาโอกาสมาร่วมงานประเพณีดีๆ สืบสานวัฒนธรรมให้ได้ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลต่างๆจากผู้ใหญ่บ้านบางขันหมาก ข้อมูลจาก Facebook เรารักลพบุรี และ Facebook ยุวชนไทยรามัญ มา ณ โอกาสนี้
รวมถึงขอบพระคุณภาพประกอบวัตถุมงคลจากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย www.samakomphra.com
และขอขอบพระคุณการติดตามเรื่องราวของผม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไปครับ สวัสดีครับ
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com