มหาธาตุเจดีย์ทั้ง 5 แห่ง ที่เป็นหลักเป็นศรีแห่งพระนครในสมัยอยุธยา

By | April 4, 2018


https://youtu.be/1aOEFij_hpY

มหาธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุทั้ง 5 แห่ง ที่เป็นหลักเป็นศรีแห่งพระนคร สมัยอยุธยา… สวัสดีครับท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยทุกท่าน ผมจะพาทุกท่านเดินทางตามรอยความยิ่งใหญ่ของมหาธาตุเจดีย์สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี ตามบันทึกคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง ที่ได้บันทึกมหาธาตุเจดีย์ที่เป็นหลักเป็นศรีแห่งกรุงศรีอยุธยาไว้ทั้งสิ้น 5 องค์

หลายท่านมาอยุธยาเพราะจะไหว้พระ 9 วัด… แอดมินขอเปลี่ยนแนวจะพาทุกท่านไปนมัสการสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ 5 แห่งที่เป็นหลักเป็นศรีแห่งพระนครในสมัยอยุธยา.

จึงเป็นอีกโอกาสอันดีที่เราจะได้เดินทางไปนมัสการพระมหาธาตุที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนในอดีตเพื่อเป็นสิริมงคล และให้ได้จินตนาการถึงความรุ่งเรืองนี้

คำว่า มหาธาตุเจดีย์ เป็นนิยามของเจดีย์ประธานที่ใช้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง

ผมขอยกบันทึกในเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม มากล่าวไว้ดังนี้

ว่าด้วยสิ่งซึ่งเป็นหลักเป็นประธานเป็นศรีพระนคร

พระมหาธาตุที่เปนหลักกรุงศรีอยุธยา ๕ องค์ คือ

พระมหาธาตุวัดพระราม ๑

พระมหาธาตุวัดมหาธาตุ ๑

พระมหาธาตุวัดราชบูรณ ๑

พระมหาธาตุสมรโกฏ ๑

พระมหาธาตุวัดพุทไธสวริย ๑

จากบันทึกนี้ ทำให้ผมเกิดความสนใจที่จะเดินทางตามรอยพระมหาธาตุเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุทั้ง 5 แห่ง ว่าปัจจุบันนี้สภาพแปรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และถือเป็นโอกาสได้นมัสการพระมหาธาตุแห่งกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

1. พระมหาธาตุวัดพระราม

วัดพระรามตามบันทึกทั่วไปกล่าวว่า วัดพระรามสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระราเมศวร เมื่อปีพ.ศ. 1912 ณ บริเวณถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอู่ทอง เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลถวายแด่พระราชบิดา

วัดพระรามตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระราชวังหลวง

ปรางค์ประธาน มหาธาตุเจดีย์แห่งวัดพระราม

2. พระมหาธาตุวัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุเป็นวัดเก่าแก่ และมีความสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เมื่อปี พ.ศ. 1917 แต่ไม่แล้วเสร็จ เพราะทรงเสด็จสวรรคตไปเสียก่อน และได้สร้างเพิ่มเติมจนเสร็จในสมัยสมเด็จพระราเมศวร เมื่อครั้งพระองค์ได้กลับมาครองราชสมบัติอีกครั้ง โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธาน และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 1927

ปัจจุบันมหาธาตุปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุได้ทลายไปตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จึงให้เห็นเหลือเพียงซากฐานในปัจจุบันเท่านั้น

บรรยากาศนักท่องเที่ยวที่วัดมหาธาตุ

ปรางค์พระมหาธาตุ ที่เหลือเพียงซากฐาน

ตลับทองคำภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ วัดมหาธาตุ

มีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุที่กรุวัดมหาธาตุเมื่อปีพ.ศ.2499 … ปัจจุบันประดิษฐานให้บูชาที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา

ภาพการสำรวจกรุวัดมหาธาตุ ในปีพ.ศ.2499

ปรางค์วัดมหาธาตุ ถ่ายไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5

ปรางค์พระมหาธาตุ วัดมหาธาตุได้พังทลายลงในช่วงปลายรัชกาลที่ 6

3. พระมหาธาตุ วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ สร้างโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. 1967 โดยสร้างขึ้นบนสถานที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ซึ่งเป็นพระเชษฐาที่ได้แย่งชิงพระราชบัลลังก์เนื่องจากพระราชบิดา (พระนครินทราธิราช) เสด็จสวรรคต จนสิ้นพระชนม์ลงทั้งคู่ในสนามรบ

เจ้าสามพระยาซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์เล็กจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้โปรดเกล้าให้สร้างเจดีย์เจ้าอ้ายและเจ้ายี่ไว้ที่เชิงสะพานป่าถ่าน ซึ่งเป็นบริเวณที่พระเชษฐาทั้งสองชนช้างกัน และสถาปนาวัดราชบูรณะบนสถานที่ถวายพระเพลิงพระเชษฐาทั้งสอง

ปรางค์ประธาน มหาธาตุวัดราชบูรณะ

ปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2500 เกิดข่าวครึกโครม เมื่อมีผู้ร้ายกลุ่มหนึ่งลักลอบขุดกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะและได้เครื่องทองไปเป็นจำนวนมาก แต่ท้ายที่สุดผู้ร้าเหล่านั้นก็ถูกตำรวจจับกุมได้ ซึ่งภายหลังได้มีการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาเพื่อเก็บรักษาเครื่องทองที่นำกลับมาได้จนถึงทุกวันนี้

มูลเหตุแห่งการจับกุมคนร้ายได้ เกิดขึ้นจากการที่ผู้ร้ายซึ่งเป็นราษฎรในพื้นที่ได้ลักลอบขุดกรุพระปรางค์เป็นเวลา 3 คืน คือคืนวันที่ 25-27 กันยายน พ.ศ.2500 กระทั่งคืนวันที่ 27 กันยายน ความลับได้รั่วไหลถึงเจ้าหน้าที่ทางการคนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ท่านนั้นจึงชวนเจ้าหน้าที่อีก 1 ท่าน และตำรวจอีก 6 นาย ไปดูลาดเลาที่วัดราชบูรณะ ลงเอยได้ร่วมลักลอบขุดเครื่องทองนั้นด้วย

แต่จากนั้น เมื่อต้องแบ่งสมบัติที่ขุดกันได้ เกิดตกลงกันไม่ได้ ตำรวจผู้นั้นซึ่งผิดหวังจากเหตุการณ์นั้นและอยู่ในอาการเมามาย จึงเดินไปที่บ้านพักของผู้กำกับการตำรวจ (พันตำรวจตรีวุฒิ สมุทรประภูติ) และได้เล่าเรื่องว่ามีผู้ร้ายลักลอบขุดสมบัติที่วัดราชบูรณะให้ผู้กำกับฟัง

เจดีย์ทองคำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พบที่วัดราชบูรณะ

ผู้กำกับการเห็นว่าถ้อยคำของตำรวจผู้นั้นมีพิรุธ สงสัยว่าจะได้ร่วมการกระทำความผิดกับผู้ร้าย จึงสั่งให้ควบคุมตัวและห้พาไปยังจุดแบ่งทองคำในเช้ามืดวันที่ 28 กันยายน 2500 ทันที ทำให้พบเครื่องทองจำนวนมากและสามารถนำกลับมาเป็นสมบัติของชาติได้บางส่วน…

**ประเมินปริมาณทองคำในกรุไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม… และค้นพบเจดีย์ทองคำในกรุงชั้นที่ 3 ที่สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ทางลงกรุวัดราชบูรณะ

เพดานกรุวัดราชบูรณะ

4. พระมหาธาตุ วัดสมณโกฏฐาราม

วัดสมณโกฏฐาราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ตามบันทึกของหมอแกมป์เฟอร์ แพทย์ชาวเยอรมันที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเพทราชา ราวปีพ.ศ. 2233 ได้เขียนบันทึก ทำแผนที่กรุงศรีอยุธยาระบุจุดของวัดแห่งนี้ พร้อมเขียนภาพวาดไว้ และบรรยายรายละเอียดวัดแห่งนี้ในชื่อ วัดเจ้าพระยาพระคลัง…

คำอธิบายของหมอแกมป์เฟอร์ เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ กล่าวถึงความสวยงามของวัดแห่งนี้ โดยมีคลองกั้นสองพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันจะเป็นวัดสมณโกฏฐารามและวัดกุฎีดาว

การใช้ชื่อบันทึกของหมอแกมป์เฟอร์ว่าเป็นวัดเจ้าพระยาพระคลังในสมัยนั้นจะมีชื่อของโกษาปานที่เรืองอำนาจอย่างมาก เพราะได้ร่วมมือกับพระเพทราชายึดอำนาจ หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

จึงสันนิษฐานว่า วัดแห่งนี้เป็นวัดประจำตระกูลของโกษาเหล็กและโกษาปาน ที่สองพี่น้องได้บูรณะขึ้นมานั่นเอง

ปัจจุบันข้างวิหารทั้ง 2 ข้าง มีการสร้างศาลของโกษาเหล็กและโกษาปานไว้ด้วย

ซากฐานปรางค์ประธานวัดสมณโกฏฐาราม

ปัจจุบันมหาธาตุ ปรางค์ประธานของวัดสมณโกฏฐารามได้พังทลายเหลือเพียงฐานที่ได้รับการบูรณะไว้เท่านั้น… ทั้งนี้ผมไม่เห็นบันทึกการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุที่วัดแห่งนี้ ซึ่งอาจจะยังไม่ถูกค้นพบหรือเกิดการสูญหาย ยังไม่ทราบแน่ชัดครับ

5. พระมหาธาตุ วัดพุทไธศวรรย์

วัดพุทไธศวรรย์ตามบันทึกทั่วไปกล่าวว่าพระเจ้าอู่ทอง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1896 ในบริเวณที่เคยเป็นตำหนักที่ประทับชั่วคราวก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา วัดแห่งนี้มีความสำคัญและเป็นวัดที่ใหญ่ในสมัยอยุธยา มีพระบรมวงศานุวงศ์บวชเป็นภิกษุที่วัดนี้หลายพระองค์ วัดนี้จึงไม่เคยเป็นวัดร้าง

มหาธาตุ ปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์

ปรางค์ประธาน ยามเย็น

บนปรางค์ประธานวัดพุทไธศวรรย์ เราสามารถขึ้นไปได้ครับ มีรอยพระพุทธบาทจำลอง เจดีย์ และพระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานด้านบนองค์ปรางค์ประธาน

พระพุทธบาทจำลองบนองค์ปรางค์ วัดพุทไธศวรรย์

สรุปปิดท้าย

เรื่องราวของพระมหาธาตุที่เป็นหลักเป็นศรีแห่งพระนคร สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นสถานที่ที่น่าสนใจและเดินทางท่องเที่ยวและเป็นโอกาสการนมัสการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า รวมถึงได้ตามรอยเรื่องราวในอดีตที่ทรงคุณค่าต่อไป

สำหรับท่านที่ต้องการสักการะพระบรมสารีริกธาตุจากกรุวัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ สามารถเดินทางไปสักการะได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ…

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com

****************************************

ผู้สนับสนุน

>> จองที่พักในพระนครศรีอยุธยากับ agoda <<