ถ้ำเขาคูหา สงขลา ถ้ำขุดพันปีเก่าแก่ที่สุดในไทย อารยธรรมฮินดูโบราณ
ผมได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ วัดพะโคะ จ.สงขลา และด้วยความบังเอิญระหว่างการเดินทาง ผมได้ดูแผนที่บน Google Map เห็นลักษณะภูมิศาสตร์ คล้ายสระน้ำอยู่ใกล้เคียงกับวัดพะโคะ และทราบว่าคือแหล่งชุมชนโบราณ ที่เรียกกันว่า “โบราณสถานถ้ำเขาคูหา” ที่ปรากฏร่องรอยโบราณสถาน การอยู่อาศัย และพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ของมนุษย์เมื่อกว่าพันปีที่แล้ว หลังจากเที่ยววัดพะโคะ ผมจึงได้เดินทางไปยังสถานที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น เราจะมองเห็นภูเขาลูกเตี้ยๆอยู่เบื้องหน้า แล้วมีถนนเส้นเล็กๆเชื่อมต่อไปยังโบราณสถานถ้ำเขาคูหาแห่งนี้ เขาคูหา ปรากฏถ้ำขุด 2 ถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันออก วางตัวในแนวทิศเหนือและใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนโบราณ ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ งานวิจัยเรื่อง เขาคูหาถ้ำศาสนสถาน สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์บนคาบสมุทรสทิงพระ โดยธัชวิทย์ ทวีสุข มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวสรุปว่า เป็นคูหาถ้ำในศาสนาพราหมณ์ที่ขุดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12- 14 ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสทิงพระ โดยมีชาวอินเดีย โดยเฉพาะอินเดียใต้ได้เดินทางเข้ามาเพื่อทำการค้า และมีการตั้งชุมชนและศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตนในพื้นที่แถบนี้ ผมได้เดินเข้าไปชมถ้ำที่ 1 ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ พบว่าเป็นถ้ำที่ถูกเจาะเป็นรูปโค้งมน กว้างประมาณ 5 เมตร ลึกเข้าไปราว 8 เมตร มีแท่นฐานด้านใน น่าจะเป็นที่ตั้งรูปเคารพ ทางด้านซ้ายมือของถ้ำจะมีร่องน้ำที่เซาะให้น้ำไหลออกไปทางปากถ้ำ และมีอ่างกลมอยู่ด้านนอก ซึ่งน่าจะเป็นการรับน้ำศักดิ์สิทธิ์จากภายในถ้ำเพื่อประกอบพิธีกรรมด้านนอกอีกด้วย โดยพบหลักฐานว่า ด้านหน้าถ้ำจะมีแท่นบูชาศิวลึงค์ และร่องรอยของโบราณสถานที่พังทลายไปแล้ว จากนั้นผมได้เดินไปยังถ้ำที่ 2 ทางทิศใต้ พบว่ามีลักษณะการเจาะเป็นถ้ำคล้ายกัน แต่ด้านในผนังถ้ำ ปรากฏรอยรูปวงกลมเขียนด้วยสีแดง ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า… Read More »